บทความให้กำลังใจ(เติมเต็มชีวิตด้วยอะไรดี)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี
    พระไพศาล วิสาโล
    อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม เป็นอาจารย์สอนธรรมที่หลายคนรู้จักดี ท่านพิการตั้งแต่คอลงมาเมื่ออายุ ๒๔ ปี แต่ก็ได้อาศัยธรรม โดยเฉพาะการเจริญสติ ช่วยให้อยู่กับความพิการได้โดยไม่ทุกข์ ตอนนี้ท่านกำลังป่วยหนัก หมอวินิจฉัยว่าอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว เพราะมะเร็งตับลุกลาม เดิมร่างกายก็พิการอยู่แล้ว ยังต้องทรมานกับมะเร็งตับอีก หากเป็นคนทั่วไปคงจะทุกข์ทรมานมาก แต่เวลาอาตมาไปเยี่ยมกลับเห็นท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงเหมือนไม่มีเรื่องอะไรให้อนาทรร้อนใจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคนเขียนเอาข้อความของอาจารย์กำพลมาขึ้นเฟซบุ๊ค ว่า "ผมยอมรับความจริง ยอมรับความเป็นไป และยอมรับความตาย"
    ยอมรับความจริง คือยอมรับว่าเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคที่รักษายาก ไม่บ่นโวยวาย ยอมรับความเป็นไป คือ เมื่อรู้ว่าโรคนี้ทำให้ร่างกายย่ำแย่ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ปฏิเสธผลักไส และสุดท้ายยอมรับความตาย สามยอมนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์กำพลยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้
    ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะอาจารย์กำพลปฏิบัติธรรมมานาน การปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจของอาจารย์กำพลพ้นจากความพิการ กายยังพิการอยู่ แต่ใจไม่พิการแล้ว เพราะเจริญสติตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อแนะนำว่าในเมื่อยกมือสร้างจังหวะไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ก็ให้พลิกมือไปมา แล้วพิจารณาว่าที่พลิกนั้นเป็นรูป ที่คิดเป็นนาม รู้กายเมื่อมือพลิก รู้ใจเมื่อคิดนึก อาจารย์กำพลได้ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ ทำไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเข้าใจเรื่องรูปนาม อาจารย์กำพลบอกว่า หลงโง่ตั้งนานนึกว่าเราพิการ ที่จริงไม่ใช่ แค่กายพิการเท่านั้น แต่ใจไม่ได้พิการด้วย พอเห็นความจริงตรงนี้ จิตก็หลุดพ้นจากความพิการ จิตลาออกจากความทุกข์ นี่เรียกว่าเห็นด้วยปัญญา
    จำไว้นะว่า เมื่อเจอเหตุร้ายเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ระทมก็ได้ เราสามารถผ่านมันไปได้ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา มีธรรมะ ในทางตรงข้าม แม้จะได้โชคลาภ ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่มีสติ มันก็พาไปเข้ารกเข้าพง ไปเจอความตกต่ำย่ำแย่ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราสามารถแยกเป็นสองทางได้เสมอ ดีหรือร้าย สูงส่งหรือตกต่ำ อยู่ที่เราเลือก แต่จะเลือกได้ก็ต่อเมื่อเรามีสติปัญญา ขนาดความพิการยังทำอะไรอาจารย์กำพลไม่ได้ เรื่องเล็กน้อยกว่านั้นควรหรือที่เราจะเป็นทุกข์เพราะมัน
    ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าว่า สมัยหนุ่ม ๆ ท่านต้องสร้างกุฏิ สร้างศาลาเอง บ่อยครั้งเวลาตอกตะปูผิด ค้อนทุบนิ้ว ท่านจะร้องด้วยความเจ็บปวด ตอนหลังท่านคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่ร้องเวลาตอกตะปูผิด ท่านคิดว่าเราจะยิ้มได้ไหม เราจะหัวเราะได้ไหมเวลาค้อนทุบโดนนิ้ว ท่านฝึกแล้วฝึกเล่าในที่สุดก็หัวเราะได้ พวกเราจะลองใช้วิธีนี้ก็ได้นะ เวลาใครวิจารณ์ ตำหนิแทนที่จะโกรธ ทำหน้าบึ้ง ก็เปลี่ยนเป็นยิ้มแทน ลองฝึกดูนะ ขนาดอาจารย์พุทธทาสโดนค้อนทุบนิ้วท่านยังหัวเราะได้ คำแนะนำตักเตือนทักท้วงมันเบากว่าค้อนเยอะ ถ้าเราฝึกว่าฉันจะยิ้มให้ได้เมื่อถูกตำหนิติเตียน วันนี้ฉันยังยิ้มไม่ได้ แต่วันข้างหน้าฉันจะยิ้มให้ได้ เราต้องบอกเพื่อนให้ความร่วมมือ คือ วิจารณ์บ่อย ๆ ตักเตือนบ่อย ๆ วันไหนยิ้มได้ก็ไปเลี้ยงฉลองได้เลย
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า "การภาวนา คือการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี" เปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชค เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรมะ เปลี่ยนคำตำหนิติเตียนให้เป็นของดี หรือมองอย่างหลวงพ่อทองรัตน์ก็ได้ คำต่อว่าด่าทอว่าเป็นอมฤตธรรมจากเทวดา เราควรมองว่าเพื่อน ๆ ในที่ทำงานของเราเป็นเทวดาทั้งนั้น สามารถให้อมฤตธรรมแก่เราได้ ลองทำดูนะ ถ้าทำบ่อย ๆ ต่อไปพอเจออะไรที่หนักกว่านี้ เราจะตั้งสติได้ไวขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ เวลาทำงานก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย

    มีคนหนึ่งพูดไว้ดีมากว่า "จุดมุ่งหมายในชีวิตของเขา คือ ๑ ค้นพบตัวตน และ ๒ สลายตัวตน" ไม่แน่ใจว่าคนพูดเป็นชาวพุทธหรือเปล่า แต่สิ่งที่เขาพูดนี้สอดคล้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนามาก การมาปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็เพื่อค้นพบตัวตน เพื่อรู้จักตัวเอง รู้จักว่าเราเป็นใคร เราต้องการอะไรในชีวิต เวลามีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นก็รู้ทันมัน ถ้ารู้จักตัวตนอย่างถึงที่สุดแล้ว จะพบว่าแท้จริงไม่มีตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย

    การค้นพบตัวตนหรือการรู้จักตัวเองอย่างแจ่มแจ้ง คือการค้นพบว่า ไม่มีตัวตน หรือว่างเปล่าจากตัวตนนั่นเอง นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญและลึกซึ้งที่สุด เหมือนกับการเฉาะกระบอกไม้ไผ่ สุดท้ายก็พบว่าข้างในหรือแกนกลางนั้นว่างเปล่า เมื่อเราพบว่าไม่มีตัวตนหรือตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย ใจก็จะวางไปเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า "ตายก่อนตาย” คือตัวตนตาย แต่ที่จริงตัวตนไม่ได้ตาย เพราะมันไม่มีตั้งแต่แรก ถ้าเราตระหนักตรงนี้ เวลาทำงานหรือปฏิบัติธรรมก็ควรตั้งจิตมุ่งเพื่อสองประการนี้ ให้ถือว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพ และการการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนทางสู่การค้นพบตัวตน และการสลายตัวตน

    เมื่อเจอคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วเราไม่โกรธ เรายิ้มได้ ไม่เอาตัวตนเข้าไปรับการกระแทก นี่คือหนทางสู่การลดละตัวตน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่เอาตัวตนมาเป็นใหญ่ ก็คือการเอาสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าตัวตนขึ้นมาแทน เช่น บางคนนึกถึงการช่วยเหลือผู้อื่น พอนึกถึงผู้อื่น จะถูกกระทบกระแทกอย่างไรก็อดทนได้ เหมือนพ่อแม่แม้จะลำบากเพียงใด พอนึกถึงลูกก็ทำให้อดทนได้เสมอ

    ถ้าเราเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นใหญ่เหนือตัวตน ก็จะทำให้ตัวตนหรืออัตตามีอำนาจต่อเราน้อยลง พระพุทธเจ้าส่งเสริมให้เอาธรรมะเป็นใหญ่ เมื่อเอาธรรมะเป็นใหญ่ ใครจะว่าเราอย่างไรก็ไม่โกรธ เราก็จะมองว่าที่เขาพูดมาเป็นธรรมะหรือไม่ อาตมาประทับใจนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นศาสตราจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญด้านเซลล์ อยู่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สมัยนั้นมีข้อถกเถียงกันว่าในเซลล์มีสิ่งที่เรียกกันว่า Golgi Apparatus หรือไม่ เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว ยังไม่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ศาสตราจารย์คนนี้ปฏิเสธว่าไม่มี Golgi Apparatus ในเซลล์ เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันไปเอง เขาทำงานวิจัย เขียนตำรา และบรรยายมานานนับสิบปีเพื่อยืนยันว่ามันไม่มี

    แล้ววันหนึ่งมีอาจารย์หนุ่มจากอเมริกามาบรรยายที่มหาวิทยาลัยของเขา เอาหลักฐานมาชี้แจงว่า Golgi Apparatus มีจริง นักวิชาการหนุ่มบรรยายได้ดีมาก จนหาข้อโต้แย้งไม่ได้เลย ศาสตราจารย์คนนั้นซึ่งอยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย แทนที่จะรู้สึกเสียหน้า เขากลับเดินไปหาอาจารย์หนุ่มคนนั้นเมื่อบรรยายเสร็จ เขย่ามือแล้วกล่าวกว่า "เพื่อนรัก ขอบคุณมาก ผมผิดพลาดมานานถึง ๑๕ ปี"

    คนที่เป็นศาสตราจารย์ระดับสูง มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับไม่มีความรู้สึกโกรธหรือเสียหน้าเลยเมื่อถูกอาจารย์หนุ่มโต้แย้งหักล้างความเชื่อของเขา นั่นเป็นเพราะเขาเอาความรู้เป็นใหญ่ เมื่อเอาความรู้เป็นใหญ่ อัตตาก็เป็นเรื่องเล็ก เขาเป็นคนใฝ่รู้ ใจนึกถึงแต่ความรู้ อะไรที่ทำให้มีความรู้เพิ่มเติมก็ยินดีทั้งนั้น แม้ความรู้นั้นจะสวนทางกับสิ่งที่เคยเชื่อ

    อัตตาของเขาเบาบางมาก ที่เบาบางได้เพราะเอาความรู้เป็นใหญ่นั่นเอง ส่วนพวกเราสามารถเอาธรรมะเป็นใหญ่ได้ โดยการเอาประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์องค์กรเป็นใหญ่ก็ได้ การเอาองค์กรเป็นใหญ่ช่วยทำให้เราอดทนต่อคำวิจารณ์ของเพื่อนได้ เพราะสนใจแต่ว่าจะทำให้องค์กรดีขึ้น นี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยขัดเกลาให้ตัวตนเบาบางลงได้

    เราพึงตระหนักอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับเรา ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องฝึกสติ เป็นเครื่องขัดเกลาให้เราลดละตัวตน ให้มองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น งานล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ ของหาย ให้ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกให้เรามีความเข้มแข็ง ช่วยทำให้เรามีสติ มีความพร้อมมากขึ้น ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในวันหน้า อย่าคิดว่าชีวิตเราตอนนี้ราบรื่นแล้วมันจะราบรื่นตลอดไป มันอาจจะเกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรงสักครั้งหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเราฝึกใจสม่ำเสมอโดยอาศัยการทำงานและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เราก็จะมีความพร้อมในการรับมือกับมันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ความพลัดพราก หรือแม้กระทั่งความตาย

    หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่า "นักภาวนาคือนักฉวยโอกาส" หมายถึง เราควรใช้เวลาและเหตุการณ์ทุกอย่างเพื่อฝึกฝนจิตใจของตน ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับแม่ค้าแถวสถานีรถไฟ แม้รถไฟจอดชานชาลาไม่กี่นาที ก็รีบขึ้นไปขายของทันที เขาไม่คิดปล่อยเวลาห้านาทีให้เปล่าประโยชน์ ไม่ได้คิดว่าเวลาห้านาทีมันน้อยนิดจะไปทำอะไรได้ ปล่อยไปเถอะ ไว้รอขึ้นรถขบวนที่จอดครึ่งชั่วโมงดีกว่า แม่ค้าไม่คิดแบบนั้น แม้จะจอดเพียงห้านาทีก็รีบฉวยโอกาสขายของ เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ

    พวกเราก็เช่นกัน เวลาเจอรถติด แทนที่จะเอาเวลาไปบ่นหรือหงุดหงิด ก็ฉวยโอกาสเจริญสติคลึงนิ้วไปด้วย เวลานัดเพื่อนแล้วเพื่อนมาสาย แทนที่จะหงุดหงิดกระสับกระส่าย ดูนาฬิกาไม่หยุด ก็เจริญสติตามลมหายใจไป หากทำได้อย่างนี้เราก็เสียเวลาอย่างเดียว แต่ไม่เสียอย่างอื่นด้วย

    การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรทำเฉพาะในบ้านหรือในวัดเท่านั้น แม้อยู่ที่ทำงานก็ทำได้ ใช้การทำงานเป็นเครื่องปฏิบัติธรรม ใช้คำติเตียนต่อว่าของเพื่อนร่วมงานเป็นเครื่องมือปฏิบัติธรรม ใช้รถติด ใช้งานที่ไม่ประสบความสำเร็จ อุปสรรคต่าง ๆ เป็นเครื่องฝึกใจ นี้แหละคือศิลปะของการปฏิบัติธรรม ในการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค ช่วยให้เราเป็นสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นใจก็ไม่ทุกข์ หากทำได้เช่นนี้ ชีวิตก็จะพบแต่ความสุขสงบเย็น ไม่ว่าโลกรอบตัวจะผันผวนเพียงใดก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/suksala26.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    บุพเพอาละวาด
    พระวิทยา กิจฺจวิชฺโช
    คนเราจะรักกันก็ต้องมีกรรมบางอย่างเป็นเหตุให้รักกัน คนเราจะเลิกกันก็ต้องมีกรรมบางอย่างเป็นเหตุให้เลิกกัน ทั้งกรรมในอดีตสัมปยุตกับกรรมในปัจจุบัน ไม่มีใครจะฝืนกรรมของตัวเองได้ กรรมในอดีตมันผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว อย่าเก็บเอามาคิดทำใจให้ขุ่นมัว
    .
    ธรรมท่านสอนให้ทำกรรมปัจจุบันให้ดีที่สุด ให้มีสติปัญญาจดจ่ออยู่ในปัจจุบัน การจะคิดอะไร จะทำอะไร จะพูดอะไร ให้พิจารณาให้สุขุมรอบคอบเสียก่อน อันใดใช่ประโยชน์ อันใดไม่ใช่ประโยชน์ สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ข้อสำคัญคือต้องมีคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมประจำใจ อย่าทำลายหิริโอตตัปปะภายในใจตนเอง จะหาทางออกจากทุกข์ไม่เจอ
    .
    บางคนไม่เคยฝึกหัดอบรมจิตใจมาก่อน พอเผชิญกับความผิดหวังรุนแรง ก็ยากที่จะทำใจ เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะต้องมาเจอกับเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ สติไม่เข้มแข็ง ปัญญาไม่เฉียบคม เกิดความเศร้าโศกเสียใจจนใจแทบพังทลาย
    แต่ใจนี้เป็นธรรมชาติอมตะที่ไม่เคยแตกสลาย แม้จะเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด กาลเวลาคือ ยาวิเศษที่จะซ่อมแซมใจให้กลับคืนมาสู่สภาพเดิมได้ ขอเพียงใจอย่าคิด พูด และทำในสิ่งที่ผิด ให้เป็นกรรมปัจจุบันซ้ำเติมตัวเองจนเกิดเหตุการณ์เลวร้ายหนักเข้าไปอีก บางคนคิดไม่ลงปลงไม่ตกจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า บางคนก็ถึงกับฆ่าตัวตายกลายเป็นกรรมสาหัสสากรรจ์ ถ้าตัวเองเอาแต่คิดทำร้ายใจตัวเอง ใคร ๆ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้
    .
    ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมีสติกล้า ปัญญาคม ที่สามารถรักษาใจตัวเองได้ดีเยี่ยมเพียงใด สติปัญญาเมื่ออบรมดีแล้วย่อมเป็นองครักษ์พิทักษ์ใจได้อย่างยอดเยี่ยมอัศจรรย์เหนือกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก
    .
    ธรรมสำคัญที่สามารถกำจัดทุกข์ภายในใจได้อย่างเฉียบขาด เป็นวิหารธรรมของพระอรหันต์คือ “สันตุษฐี ปะระมัง ธะนัง” แปลความว่า “ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” ถึงแม้คนมีกิเลสยากที่จะทำได้ แต่ถ้ามีความพยายามที่จะทำ คอยอบรมจิตไปทุกวัน ฝึกจิต ฝืนจิตต่อต้านกิเลสความอยากไว้ได้บ้าง ความทุกข์ใจก็จะน้อยลง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 กุมภาพันธ์ 2025
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สติปัญญาความเฉลียวฉลาด ฐานะทางสังคม ทรัพย์สมบัติ พ่อแม่พี่น้อง มิตรสหาย แม้มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง จะชอบใจหรือไม่ชอบใจ ก็ต้องทำใจให้ยอมรับ และพยายามอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้โดยไม่ต้องคิดเรื่องที่จะทำให้ใจเป็นทุกข์
    .
    ถ้าอยากได้ดีกว่านั้น ธรรมท่านสอนให้หามาด้วยการงานอันชอบ มีความขยันหมั่นเพียรประกอบสุจริต ไม่ทำผิดศีลผิดธรรม รู้จักรักษาทรัพย์เก็บหอมรอบริบ คบเพื่อนที่ดี ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายฟุมเฟือยจนเกินฐานะของตนเอง ทำกรรมปัจจุบันให้ดีที่สุด ผลดีย่อมปรากฏขึ้นเอง เมื่อได้ผลอย่างไรก็จงพอใจอย่างนั้น ถ้ายังไม่พอใจก็ให้ทำเหตุดีให้มากยิ่งขึ้นไปอีก อย่าไปทำเหตุชั่ว
    .
    นี่แหละ! ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง คือ ใจที่ไม่มีทุกข์นั่นเอง ไม่มีทรัพย์ใดในโลกจะมีคุณค่ายิ่งไปกว่าใจนี้อีกแล้ว
    .
    ดังนั้น จึงไม่ควรที่ ใคร ๆ จะทำร้ายใจของตนเอง ด้วยการคิดไม่ดี คิดเป็นอกุศลอยู่ตลอดเวลา ให้คิดปลดเปลื้องทุกข์ออกจากใจตัวเองก่อน ด้วยการคิดดี คิดเป็นกุศล อย่ามัวไปคิดโทษคนอื่น สิ่งอื่นว่า มาทำให้เราเป็นทุกข์ ให้รู้ว่า ความคิดโทษคนอื่น สิ่งอื่น นั่นแล คือตัวต้นเหตุที่ทำให้ใจเป็นทุกข์หนักยิ่งขึ้น
    ถ้าไม่รู้ว่าจะคิดอะไรดี ก็ให้ใจมาอยู่กับ พุทโธ ๆๆ คิดพุทโธ ๆๆ นี่แหละ สามารถสยบทุกข์ใจได้ทุกอย่าง ถ้าพอสงบใจได้บ้างแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะคิดอะไรให้กว้างขวางไปกว่านี้ ก็ให้คิดว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา, สัพเพ สังขารา ทุกขา, สัพเพ ธัมมา อนัตตา .
    คิดวนเวียนกลับไปกลับมาทั้งวันทั้งคืน ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จิตจะค่อย ๆ เกิดความคิดที่ละเอียดแยบคายแตกแขนงออกไปเองตามจริตนิสัยของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน หากมีสิ่งใดมาสัมผัสใจ แล้วทำให้ใจคิดปรุงแต่งเป็นทุกข์ใจขึ้นมา ก็ให้พิจารณาสิ่งนั้นลงสู่กฏแห่งไตรลักษณ์นี้
    .
    ให้สอนใจว่า ทุกสรรพสิ่งไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันเป็นทุกข์เพราะมันจะต้องแตกต้องพัง จะเอาใจไปยึดถืออะไรไว้ไม่ได้เลย พอตายแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นของเราสักชิ้นสักอัน ถึงเราไม่ยอมจากมันไป แต่มันก็ต้องจากเราไปอยู่ดี เพราะทุกสรรพสิ่งต้องพังทั้งนั้น ทั้งตัวเขาตัวเรา ไม่มีสิ่งใดไม่แตกไม่พัง อันนี้คือหมัดเด็ด ที่จะฆ่ากิเลสที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวลให้สิ้นซากจากใจได้
    .
    นี่คือ ธรรมาวุธ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้กับชาวพุทธทุกคน ใครหมั่นศึกษาพิจารณาทุกสรรพสิ่งน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้ง ๓ นี้ให้มาก ๆ ทุกข์ในใจก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นทุกข์หมดสิ้นไปได้อย่างแน่นอน

    :- https://www.doisaengdham.org/สายธารธรรม-โดยเจ้าอาวาส/บุพเพอาละวาด.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    ยอมรับได้ ใจก็สงบ
    พระไพศาล วิสาโล
    ความทุกข์ของผู้คนในปัจจุบัน ที่เป็นทุกข์กายนั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่ทุกข์ใจกันทั้งนั้น และที่ทุกข์ใจก็ไม่ได้เป็นเพราะสิ่งภายนอกมากเท่ากับเป็นเพราะใจของตัว นั่นคือความคิด อย่างที่พูดเมื่อวาน คนเราส่วนใหญ่ทุกข์เพราะความคิด จมอยู่กับอดีตบ้าง พะวงกับอนาคตบ้าง ไม่ค่อยได้อยู่กับปัจจุบัน หรือไม่ก็คิดปรุงแต่งไปในทางลบ รวมทั้งชอบคิดเปรียบเทียบกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีมากกว่า มีดีกว่า รวมทั้งการด่วนสรุป ไม่รู้จักทักท้วงความคิดตนเองบ้าง

    ที่จริงแล้วนอกจากทุกข์เพราะความคิดแล้ว คนเรายังทุกข์เพราะความรู้สึก ทุกข์เพราะความรู้สึกที่ต่อต้าน ปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ใจที่ไม่ยอมรับผลักไสสิ่งที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งก่อให้เกิดความทุกข์ยิ่งกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเสียอีก เช่นอากาศร้อน หรือความหนาว มันทำให้เกิดความทุกข์กายก็จริง แต่ก็ไม่มากเท่ากับความทุกข์ที่เกิดจากใจที่ต่อต้าน ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ

    เวลาเงินหาย โทรศัพท์หาย คอมพิวเตอร์หาย มันไม่ได้ทำให้ทุกข์มากเท่ากับใจที่ไม่ยอมรับความสูญเสียเหล่านั้น เงินหายของหายไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกข์ใจ แต่พอใจไม่ยอมรับ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นที่ใจทันที แทนที่จะเสียแต่เงินก็เสียใจด้วย พอเสียใจแล้วมันก็ไม่ได้จบแค่นั้น บางทีก็ทำให้ไม่มีสมาธิกับงาน อย่างมีบางคนเล่าว่าให้เพื่อนยืมเงินไป เป็นเงินก้อนใหญ่ และทำท่าว่าจะไม่ได้คืน เธอทั้งเสียใจทั้งโมโห เวลาทำงานก็ไม่มีสมาธิ เพราะนึกถึงแต่เรื่องนี้ ก็เลยเสียงาน ไม่ใช่แค่นั้นพอเครียดมาก ๆ ก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ สุขภาพก็เสีย เสียงานและเสียสุขภาพยังไม่พอ พออารมณ์เสียก็ระบายใส่คนใกล้ตัว เช่น ระบายใส่ลูก ระบายใส่เพื่อน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร พอระบายความเครียดใส่เขา ก็เลยโกรธกัน เสียความสัมพันธ์ไปอีกหนึ่ง กลายเป็นว่า แทนที่จะเสียเงินอย่างเดียว ก็เสียใจ เสียงาน เสียสุขภาพ และเสียความสัมพันธ์ นี่เป็นเพราะวางใจไม่ถูกต้อง

    ที่จริงกรณีนี้ เสียเงินหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ เพราะอาจเป็นการด่วนสรุปว่าเขาโกงเงินไป แต่สมมติว่าเสียเงินไปจริง ๆ ก็ควรเสียแค่นั้น ไม่ควรเสียมากกว่านั้น แต่พอใจไม่ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ก็เลยเสียอีกหลายทอด เสียใจ เสียสุขภาพ เสียงาน และเสียความสัมพันธ์ ล้วนแล้วแต่ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น อาตมาถึงบอกว่าเสียเงินยังไม่เท่าไร แต่ใจที่ไม่ยอมรับว่าเสียเงินไปแล้ว ต่างหากที่เป็นปัญหามากกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา แม้จะแย่ก็ไม่แย่เท่ากับใจที่ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น

    มีคน ๒ คน คนหนึ่งเป็นมะเร็ง แต่เขายอมรับได้กับโรคมะเร็งที่เกิดขึ้น ไม่ตีโพยตีพาย ไม่บ่นโอดโอย ใจก็เลยเป็นปกติได้ อีกคนหนึ่งสุขภาพดี มีกินมีใช้ งานการก็ดี แต่ว่าเพียงแค่มีสิวไม่กี่เม็ดที่หน้า ใจยอมรับไม่ได้ที่หน้ามีสิว เอาแต่กังวลถึงเรื่องนี้ เวลาส่องกระจกก็หงุดหงิดไม่พอใจกับสิ่งที่เห็น เชื่อไหมว่า คนนี้กลับทุกข์มากกว่าคนแรกด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนแรกมันหนักหนาสาหัสกว่าคนที่ ๒ แต่คนแรกเขายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เขาก็เลยกินได้ นอนหลับ ยิ้มได้ ส่วนคนที่ ๒ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แม้เป็นเพียงแค่ปัญหาน้อยนิด ก็เลยเป็นทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจ มีบางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะรู้สึกอับอาบขายหน้า

    ใจที่ไม่ยอมรับ ใจที่ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นเหตุหรือที่มาของความทุกข์ที่เกิดกับผู้คนมากมาย มันมีหลายเหตุผลที่ทำให้เราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น เป็นเพราะมีความคาดหวังว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นกับฉัน

    ผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนธรรมะธรรมโมชอบทำบุญทำกุศลตั้งแต่ยังหนุ่ม เพราะเชื่อว่าการทำบุญทำกุศล จะทำให้แคล้วคลาดจากอันตราย มีความสุขความเจริญ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ แต่แล้วก็มาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เขายอมรับไม่ได้ ตีโพยตีพายทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมฉันทำดีแต่ไม่ได้ดี นอกจากเสียใจ ตีโพยตีพายแล้ว ยังรู้สึกโกรธแค้น เหมือนกับว่าถูกหลอกให้ทำดี ไหนว่าบุญ ไหนว่าธรรมะจะคุ้มครองฉัน แล้วทำไมฉันถึงเป็นมะเร็ง ขนาดคนที่ไม่รักษาศีล กินเหล้าเมายา ยังมีสุขภาพดี พวกที่ลักขโมย คอร์รัปชั่นทำไมมันไม่เป็นมะเร็ง แต่ฉันทำความดีมาตลอดกลับเป็นมะเร็ง เขายอมรับไม่ได้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง จึงมีความทุกข์มาก กราดเกี้ยว ไม่ใช่กราดเกรี้ยวชะตากรรมเท่านั้น แต่ยังกราดเกรี้ยวกับคนที่อยู่รอบตัว ทั้งหมอ ทั้งพยาบาล หาความสงบไม่ได้เลย ตอนใกล้จะตายก็ทุรนทุราย สุดท้ายก็ตายไม่สลบ มะเร็งทำให้เจ็บปวดก็จริง แต่มันก็ไม่เท่ากับความรู้สึกทุกข์ใจเพราะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวไม่ได้ ว่าทำไมทำบุญทำกุศลแล้วต้องมาเจอแบบนี้
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ไม่ใช่คนธรรมะธรรมโมก็จริงแต่เป็นคนรักษาสุขภาพ กินอาหารธรรมชาติ อาหารชีวจิต ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า รวมทั้งกินวิตามินและสารอาหารทั้งหลายที่ป้องกันมะเร็ง เช่น ยาต้านอนุมูลอิสระ รู้ว่ามีอะไรดีก็ไปขวนขวายหามา สาหร่ายที่ช่วยต่อต้านมะเร็งก็ไปซื้อมาทั้ง ๆ ที่ราคาแพงมาก แต่วันหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เธอมีปฏิกิริยาคล้ายคนแรก คือ โกรธ ตีโพยตีพายว่าทำไมต้องเป็นฉัน เธอรู้สึกผิดหวังอย่างแรง ก้าวร้าวต่อผู้คนรอบข้างเช่นเดียวกับคนแรก และทุรนทุรายตลอดเวลาที่นอนป่วย ในที่สุดก็ตายไม่สงบ

    ที่ตายไม่สงบไม่ใช่เพราะความเจ็บปวดของมะเร็ง แต่เป็นเพราะใจที่ไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำไมถึงไม่ยอมรับ เพราะมีความคาดหวังว่ากินอาหารสุขภาพ ใช้ชีวิตถูกต้อง ต้องไม่เป็นอะไร แคล้วคลาดปลอดภัย เมื่อยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ใจก็เลยไม่สงบ จิตใจรุ่มร้อน ซึ่งก็ซ้ำเติมความทุกข์กายให้หนักหนาสาหัสกว่าเดิม ต่างกับบางคนที่พอรู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็ยอมรับได้ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งที่รุนแรง น่ากลัว น่าเกลียด

    มีหมอคนหนึ่งเล่าว่าได้รับหมอบหมายให้ไปเยี่ยมคนไข้คนหนึ่ง คนไข้คนนี้เป็นมะเร็งที่ใบหน้า มะเร็งกัดใบหน้าจนเป็นรูใหญ่ คนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงมาก ในอเมริกาสถิติการฆ่าตัวตายสูงถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะทั้งเจ็บปวด ทั้งอับอายขายหน้า ไม่กล้าออกไปเจอหน้าผู้คน ส่วนคนอื่นก็ไม่อยากเข้าหาเพราะทั้งกลัวทั้งรังเกียจ ที่สำคัญคือ คนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้จะต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน ออกไปไหนไม่ได้ เพราะแพ้แสง เจอแสงจ้าจะรู้สึกเจ็บปวด พอเก็บตัวอยู่คนเดียวนาน ๆ ก็จะรู้สึกหดหู่และเครียด จนไม่อยากมีชีวิตอยู่

    เมื่อหมอรู้ว่าจะไปเจอคนไข้คนนี้ก็หนักใจ เพราะไม่รู้ว่าจะรับมือกับอารมณ์ของเขาได้หรือไม่ แต่พอเจอคนไข้ กลับพบว่าเขาโอภาปราศรัยดี ต้อนรับเหมือนคนปกติ เพียงแต่พูดไม่ค่อยถนัด บ้านของเขาปิดมืดทึบเพราะว่าเจอแสงแดดไม่ได้ แต่คนไข้ไม่มีอารมณ์หดหู่หรือกราดเกรี้ยวเหมือนกับคนที่ป่วยด้วยมะเร็งชนิดเดียวกัน คุยไปคุยมาเขาก็เล่าว่าตอนเป็นหนุ่มเขาเป็นคนเสเพล กินเหล้า สูบบุหรี่ เอาแต่เที่ยว ครั้นแต่งงานมีครอบครัว ภรรยาก็ขอหย่า ลูกไปอยู่กับภรรยา เขาคิดว่าที่เขาเป็นมะเร็งก็คงเพราะใช้ชีวิตแบบนี้ ลึก ๆ เขาคงรู้สึกว่าสมควรแล้วที่เขาต้องเป็นมะเร็ง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขายอมรับมะเร็งได้

    เหตุผลสำคัญก็คือ ระหว่างที่ล้มป่วย พออยู่ในบ้านไปไหนไม่ได้ก็เลยเปิดดูข่าว CNN ทั้งวัน วันแล้ววันเล่าเขาก็ได้คิดว่าคนเราไม่ว่าเชื้อชาติใดภาษาใดล้วนแต่มีความทุกข์ทั้งนั้น บางคนตายเพราะแผ่นดินไหว บางคนตายเพราะไฟไหม้ บางคนพิการเพราะน้ำท่วม หรือล้มป่วยเพราะโรคระบาด เขาพบว่าคนเราล้วนมีความทุกข์ทั้งนั้น เขาจึงรู้สึกว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ความทุกข์ที่เกิดกับเขาเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั้งโลก เมื่อเห็นเช่นนี้ เขาก็เลยยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้

    จะพูดว่าเขาพบธรรมจาก CNN ก็ได้ บางคนพบธรรมจากหนังสือธรรมะ จากการฟังเทศน์ แต่คนนี้เขารู้ธรรมจากข่าว คนเป็นอันมากดูข่าวแต่ไม่เกิดความรู้ทางธรรมะเลย แต่ผู้ชายคนนี้เกิดเข้าใจธรรมะขึ้นมา คือเห็นว่าความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต ก็เลยยอมรับความเจ็บป่วยได้ เขาไม่ทุรนทุราย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีเวลาอยู่แค่ ๔-๖ เดือน ตามที่หมอคาดการณ์ไว้ แต่เขาพยายามที่จะรักษาชีวิตของตนให้นานที่สุด จะได้มีโอกาสอยู่กับลูกนาน ๆ เพราะที่ผ่านมาเหินห่างจากลูกมาก ปรากฏว่าเขาอยู่ได้นานเป็นปี แล้วก็ตายโดยไม่ได้ทุรนทุรายเหมือนกับ ๒ คนแรก

    อันนี้ดูเหมือนไม่เป็นธรรม ทำไมคนที่ชอบทำบุญกุศลจึงตายอย่างทรมาน ขณะที่อีกคนเที่ยวสำมะเลเทเมาแต่ว่าตายสงบ ที่จริงแล้วคนเราจะตายสงบหรือทรมาน ไม่ได้อยู่ที่ว่าอดีตเคยทำอะไรมา นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าทำใจอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คนบางคนชอบเข้าวัด หมั่นทำบุญ แต่วางใจไม่ถูก ทำด้วยความคาดหวังว่าต้องแคล้วคลาดจากอันตราย ไม่เจ็บไม่ป่วย ถ้าทำบุญด้วยความคาดหวังแบบนี้ ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง เพราะคนเรายังไงก็ต้องเจ็บป่วย พอป่วยก็จะยอมรับไม่ได้ อันนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่ถูกก็ได้

    อีกคนหนึ่งแม้จะห่างธรรมะ แต่ในที่สุดก็เข้าใจธรรมะขั้นพื้นฐาน แม้จะเป็นการเรียนรู้จากข่าวโทรทัศน์ก็ตาม ความเข้าใจดังกล่าวทำให้เขายอมรับความจริงที่เลวร้ายได้ ใจจึงสงบ ไม่ทุรนทุราย อาตมาจึงอยากจะย้ำว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้ายอมรับไม่ได้ก็ทุกข์ทรมานจนอยากตาย ตรงกันข้าม แม้เจอเรื่องหนัก ๆ แต่ใจยอมรับได้ ก็สามารถพบความสงบได้

    :- https://visalo.org/article/suksala21.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    สร้างสมดุลชีวิต
    พระไพศาล วิสาโล
    การดำเนินชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง การเดินทางนี้ไม่ได้เดินด้วยรถ แต่เป็นการเดินเท้า ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงของตัว การที่คนเราจะเดินไปถึงจุดหมายก็ต้องมีขาสองข้าง มีขาข้างเดียวก็ไปถึงลำบาก และขาทั้งสองข้างก็ต้องพอดีกัน ถ้าขาหนึ่งยาว ขาหนึ่งสั้น ก็ต้องเดินกะโผกกะเผลก ไปถึงเหมือนกันแต่ก็ลำบาก แต่บางคนอาจจะไปไม่ถึงเลย ขาสองข้างต้องพอดีกันเพื่อเราจะเดินไปได้อย่างมีสมดุล

    ความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการดำเนินชีวิตเพื่อถึงจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ ความสุข หรือจุดหมายที่สูงส่ง ถ้าหากชีวิตขาดความสมดุลก็ลำบาก ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ยาก

    ความสมดุลของชีวิตคืออะไร หมายถึงอะไร ความสมดุลของชีวิตมีหลายด้าน เช่นความสมดุลระหว่างกายกับใจ ถึงแม้ว่าจิตใจจะเข้มแข็ง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ สุขภาพไม่อำนวยก็ลำบาก คนเจ็บป่วยหรือคนแก่บางคนกำลังใจดีแต่ร่างกายไม่อำนวย การนำพาชีวิตให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ประสงค์จึงเป็นเรื่องยาก ร่างกายแข็งแรงแต่ว่าจิตใจอ่อนแอก็ไม่ต้องพูดถึง อาจจะหลงทิศหลงทาง อาจลงเอยด้วยการทำร้ายร่างกายตัวเองเพราะว่าหมกมุ่นกับอบายมุข ยาเสพติด เพราะจิตใจอ่อนแอ

    นอกจากความสมดุลระหว่างกายกับใจแล้ว ยังมีความสมดุลอีกหลายคู่ที่เราต้องใส่ใจ เช่น ความสมดุลระหว่างงานส่วนรวมกับงานส่วนตัว บางคนมีความรับผิดชอบต่องานส่วนรวมเยอะ แต่ว่างานที่เป็นกิจส่วนตัวแม้กระทั่งการหลับการนอนกลับทำไม่พอ สุขภาพก็ย่ำแย่ บางคนทุ่มเทกับงานส่วนรวมมากจนกระทั่งไม่มีเวลาทำมาหากิน อย่างนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน แต่ถ้าทำแต่งานส่วนตัว ส่วนรวมไม่สนใจ ก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไป ยากที่จะประสบความสุขความเจริญได้ เพราะว่าใคร ๆ ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมกับคนที่เห็นแก่ตัว หรือสนใจแต่เรื่องตัวเอง เรื่องส่วนรวมกับเรื่องส่วนตัวจึงต้องสมดุลกัน

    การทำงานกับความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ต้องสมดุล หลายคนทุ่มเทกับงานการ ทำมาหากิน ร่ำรวยมีเงินเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน แต่ว่าครอบครัวย่ำแย่ แตกแยก หรือบาดหมางหรือเหินห่างกัน อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างมีอยู่มาก คนที่ร่ำรวยแต่ครอบครัวแตกแยก หรือเต็มไปด้วยปัญหา ลูกติดยา มั่วสุมทางเพศ ติดเอดส์ อันนี้เพราะว่าขาดความสมดุลระหว่างการทำงานกับครอบครัว

    สมดุลระหว่างงานภายนอกกับงานภายใน งานภายนอกหมายถึงการทำมาหากิน การดูแลครอบครัว บางคนงานการก็ดี ใส่ใจรับผิดชอบ ครอบครัวก็เอาใจใส่ ไม่ละเลย แต่ว่างานภายใน คือการดูแลจิตใจกลับละเลย ก็มีปัญหาเหมือนกัน เช่น ทำงานไปมาก ๆ ก็กลายเป็นคนหงุดหงิด โมโหง่าย เพราะว่ารับภาระเยอะ ทำทั้งงาน ดูแลครอบครัว ให้เวลากับครอบครัว แต่ไม่มีเวลาดูแลจิตใจของตัว ไม่มีเวลาผ่อนคลายจิตใจ อันนี้เรียกว่าไม่ได้ทำงานภายใน

    จะเห็นได้ว่าการดำเนินชีวิตนั้นต้องอาศัยความสมดุลหลายอย่างมาก ความสมดุลระหว่างกายกับใจ ความสมดุลระหว่างเรื่องงานส่วนรวมกับงานส่วนตัว ระหว่างงานการกับครอบครัว ระหว่างงานภายนอกกับงานภายใน

    มีความสมดุลอย่างหนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเท่าไร คือความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ หรือระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ตัวนี้สำคัญมาก เพราะถึงแม้เราจะรู้ว่าอะไรดี เช่น รู้ว่าความสมดุลเป็นเรื่องดี เพราะไตร่ตรองด้วยสมองแล้วเห็นว่ามันมีประโยชน์ แต่กลับทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้เพราะว่าหัวใจ หรือจิตใจไม่มีกำลังพอที่จะชีวิตของเราให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เช่น รู้ว่าการกินเหล้าไม่ดี การมีกิ๊กมาก ๆ ไม่ดี การพนันไม่ดี แต่เราห้ามใจไม่ได้ ใจมันหมกมุ่นอยู่แต่สิ่งนั้น อันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่มีช่องว่าง หรือว่าไม่มีความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ ระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ สมองรู้ว่าอะไรดี อะไรควร แต่จิตใจไม่สามารถจะผลักดันให้ทำสิ่งที่เห็นว่าดีได้

    หลายคนเห็นว่าการออกกำลังกายเป็นของดี การฝึกสมาธิภาวนาเป็นของดี แต่ไม่ทำเพราะใจไม่ไป หลายอย่างทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่กลับทำแล้วทำเล่า เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการกินอาหารขยะมีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น รู้ว่าน้ำอัดลมไม่ดี มีการสาธิตด้วยการนำน้ำอัดลมไปล้างสวม มันล้างได้ดีมากเพราะว่ามีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ เอาโลหะไปแช่ไม่กี่วันมันก็ละลาย เห็นอยู่ก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ว่าห้ามใจไม่ได้ ก็ยังกินเป็นประจำจนติด อันนี้เป็นปัญหาของคนสมัยนี้มาก ที่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่สิ่งดีทำไม่ได้ สิ่งไม่ดีกลับทำ เพราะว่าห้ามใจไม่อยู่ อย่างที่มีสำนวนว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” อดใจไม่ได้เพราะจิตไม่มีกำลัง ไม่มีพลังที่จะทำสิ่งดี ๆ และละเว้นสิ่งไม่ดี หลายคนทำไปแล้วก็เสียใจว่า ทำไมถึงทำอย่างนั้น หรือเสียใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    มีคนไข้คนหนึ่งป่วยหนักเพราะกินเหล้ามาก ตับแย่ หัวใจไม่ค่อยดี หมอก็ตั้งใจรักษา แต่ให้ยาอย่างเดียวก็ไม่พอ คนไข้ต้องร่วมมือด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม คือต้องเลิกเหล้าให้ได้ แต่คนไข้ก็เลิกไม่ได้สักที มาหาหมอหลายครั้งมาก อาการก็ไม่ดีขึ้น หมอเลยถามว่าทำไมเลิกเหล้าไม่ได้สักที หมอบอกหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือว่าลุงต้องเลิกให้ได้ ไม่อย่างนั้นตายเร็วนะ คนไข้บอกว่าที่เลิกไม่ได้เพราะกลุ้มใจ หมอก็สงสัยว่ากลุ้มใจเรื่องอะไร กลุ้มเรื่องครอบครัว หรือเรื่องงานการ หมอถามว่าลุงกลุ้มอะไร บอกได้ไหม คนไข้บอกว่าผมกลุ้มเพราะว่าเลิกเหล้ายังไงก็เลิกไม่ได้สักที พอกลุ้มก็เลยต้องกินเหล้าแก้กลุ้ม

    อยากเลิกเหล้า พยายามเลิกเหล้า แต่เลิกไม่ได้ ก็เลยกลุ้มใจ ต้องหันไปหาเหล้าเพื่อดับความกลุ้ม แสดงว่าจิตใจเขาอ่อนแอมาก อยากกินเหล้าจนมีเหตุผลสารพัดที่ทำให้เข้าหาเหล้า รวมทั้งเพื่อระงับความกลุ้มใจที่เลิกเหล้าไม่ได้

    มีบางรายก็พยายามหาตัวช่วย ที่อเมริกามีคนจำนวนมากเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง เรียกว่า Shopaholic เห็นโฆษณาตามโทรทัศน์ ตามหนังสือ นิตยสาร หรือแม้กระทั่งทางเว็บไซต์เมื่อไหร่ ก็อยากได้ขึ้นมา คนเหล่านี้จึงเป็นหนี้เยอะ เพราะว่ายืมเงินได้ง่าย อยากได้เงินก็ไปทำเครดิตการ์ด ที่อเมริกาเครดิตการ์ดทำได้ง่ายมาก พอได้มาก็ช็อปทันที พอใช้จนหมดวงเงินก็ไปออกบัตรใหม่ บางคนมีบัตรเครดิต ๒๐ ใบ รวมหนี้เป็นหมื่น เป็นแสน เขาก็รู้ว่าไม่ไหว้แล้ว ครอบครัวก็ทิ้ง อยู่ด้วยไม่ได้ ผัวทิ้งบ้าง เมียทิ้งบ้าง ก็รู้สึกแย่มาก อยากจะเลิก แต่ก็ห้ามใจไม่ได้สักที เห็นทีไรก็อยากซื้อ

    สุดท้ายเขาทำอย่างไร เขาก็เอาบัตรเครดิตไปใส่ไว้ในแก้วน้ำ แล้วเอาแก้วน้ำนั้นไปใส่ไว้ในช่องฟรีซในตู้เย็นเพื่อให้น้ำในถ้วยกลายเป็นน้ำแข็ง เพราะเวลาอยากซื้อของก็ต้องไปหยิบบัตรเครดิตจากช่องฟรีซมา แต่เนื่องจากมันติดอยู่กับน้ำแข็งเสียแล้ว จะดึงออกมาก็ไม่ได้ ต้องรอให้น้ำแข็งละลาย กว่าน้ำแข็งจะละลายก็ประมาณ ๑๐ นาที ๑๕ นาที จึงจะเอาบัตรเครดิตไปใช้ได้ ครั้นจะเอาไปใส่ตู้ไมโครเวฟให้น้ำแข็งละลายเร็ว ๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะบัตรจะเสีย กว่าน้ำแข็งจะละลายและเอาบัตรเครดิตไปใช้ได้ ความอยากก็คงลดลง ทำให้ได้สติขึ้นมา เปลี่ยนใจไม่ซื้อก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าห้ามใจไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยตัวช่วย

    บางคนเป็นหนี้คนอื่นเยอะมากเพราะติดการพนัน หรือเล่นหวย ตัวเองก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ห้ามใจไม่ได้ เขาแก้ปัญหาอย่างไรรู้หรือไม่ เขาประกาศในเฟซบุ๊คหรือในเว็บไซต์ว่า ฉันเป็นหนี้คนมาแล้วเท่าไรแล้ว เป็นการประจานตัวเอง เพื่ออะไร เพื่อว่าเวลาไปกู้เงินหรือยืมเงินใคร เขาจะได้ไม่ให้ยืม เพราะถ้าได้ยืมหนี้ก็จะบานเบอะ คนเหล่านี้รู้ตัวว่าห้ามใจไม่ได้ ถึงขนาดต้องยอมประจานตัวเอง จะได้ทำตามกิเลสไม่ถนัด เป็นเพราะห้ามกิเลสไม่ได้แล้ว แต่ทำอย่างไรถึงจะมีอุปสรรคให้ทำตามกิเลสไม่ได้ ถ้ามาถึงขั้นนี้ก็แย่แล้ว

    มันจะดีกว่านี้ถ้าหากว่าเราสามารถฝึกใจของเราให้มีความเข้มแข็ง สามารถที่จะพูดหรือทำสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้องได้ เมื่อปัญญาหรือสมองบอกว่าสิ่งนี้ดี เราก็สามารถทำสิ่งนั้นได้เพราะจิตใจมีกำลัง เช่น เราพิจารณาแล้วเห็นว่าการทำสมาธิภาวนาเป็นของดี ทำให้ไม่เครียด ทำให้ความโกรธ ความเศร้า ความวิตกกังวลเข้ามาเล่นงานจิตใจไม่ได้ หรือเห็นว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องดี ถ้าออกกำลังกายเป็นประจำสุขภาพก็จะดี เมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องฝึกใจให้เข้มแข็ง เพื่อทำสิ่งเหล่านั้นได้ตามที่ตั้งใจไว้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการนำพาชีวิตประสบให้ความสำเร็จและมีความสุข ถ้าจิตใจอ่อนแอแล้ว ไม่ว่าจะคิดเก่งแค่ไหน มันก็ไม่มีทางที่จะทำให้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้องได้

    คนสมัยนี้คิดเก่งมาก รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ รู้หมด แต่ทำไม่ได้ เด็กก็เช่นกัน เขารู้ว่าการขยันเรียน การทำการบ้านเป็นของดี แต่ไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ เอาแต่ดูโทรทัศน์ เอาแต่โทรศัพท์คุยกับเพื่อน หรือไม่ก็เล่นเกมส์ออนไลน์ ถามว่าเด็กรู้หรือไม่ว่าทำอย่างนี้ไม่ดี เด็กก็รู้ว่าไม่ดี แต่เขาห้ามใจไม่ได้

    คนสมัยนี้เปรียบเสมือนรถที่มีกำลังแรง แต่ไม่มีเบรก รถแบบนี้จะน่าขับหรือน่านั่งไหม แม้แต่หลวงพ่อคูณก็คงไม่กล้านั่งรถแบบนี้ คนสมัยนี้เหมือนกับคนที่เก่งในการปีนต้นไม้แต่ลงไม่เป็น เหมือนกับกัปตันที่เก่งในการขับเครื่องบินให้ทะยานขึ้นฟ้าได้ แต่ไม่รู้วิธีร่อนลง

    คิดเก่งอย่างเดียวไม่พอ การฝึกใจให้เข้มแข็งมีพลังก็สำคัญมาก การฝึกสมาธิภาวนาเป็นวิธีหนึ่งในการฝึกให้จิตใจมีความเข้มแข็ง อดทนต่อความเบื่อหน่าย แค่ตั้งใจนั่งสมาธิให้ได้ทุกวัน ก็มีอานิสงส์มาก ถึงแม้จะเบื่อก็ตาม แทนที่จะไปเล่น เที่ยว หรือกิน แต่ต้องมานั่งฝึกสมาธิให้ได้ครบตามกำหนดเวลา แม้แต่ ๕ นาทีก็มีคุณค่าและมีความหมาย อย่าไปประมาท เพียงแค่ ๕ นาที ถ้าทำเป็นประจำก็ทำให้จิตมีกำลังมาก

    หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก อยุธยา ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก คราวหนึ่งมีชายหนุ่ม ๒ คน มากราบท่าน คนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ท่าน ชวนเพื่อนให้รักษาศีลและนั่งสมาธิต่อหน้าหลวงปู่ดู่ เพื่อนก็ปฏิเสธบอกว่า เขาถือศีล ๕ ไม่ได้เพราะยังกินเหล้าอยู่ หลวงปู่ก็เลยพูดกับเขาว่า แกจะกินเหล้าก็กินไป แต่ว่าทำสมาธิให้ได้ไหม แค่ ๕ นาทีก็พอ ชายคนนั้นเห็นว่า ๕ นาทีไม่ได้มากอะไร ก็เลยรับปากหลวงปู่ดู่ เนื่องจากเขาเป็นคนพูดคำไหนคำนั้น ดังนั้นเขาจึงนั่งสมาธิทุกวันวันละ ๕ นาทีตามที่รับปากไว้ นั่งเสร็จก็ไปกินเหล้า แต่บางวันเพื่อนชวนมากินเหล้าตอนที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ ก็ปฏิเสธไป ปรากฏว่าทำไป ๆ เขาก็เลิกเหล้าได้เอง คงเพราะนั่งสมาธิทุกวัน ทำให้จิตใจมีกำลัง ไม่คล้อยตามกิเลสง่าย ๆ นอกจากหักห้ามใจได้แล้ว สมาธิยังช่วยให้เขามีความสุข เป็นความสุขที่ประเสริฐกว่าการกินเหล้าเยอะ
    ชายคนนี้นอกจากเลิกเหล้าไดแล้ว ตอนหลังก็เกิดศรัทธา ถึงกับบวชพระและอยู่ในสมณเพศต่อเนื่องหลายปี พูดได้ว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงเพราะว่าทำสมาธิแค่วันละ ๕ นาที
    สิ่งเล็กน้อย หากเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราทำบ่อย ๆ จะมีอานิสงส์มาก ทำให้จิตมีกำลัง เมื่อจิตมีกำลังก็สามารถขับเคลื่อนชีวิตของเราสู่ความเจริญงอกงามตามที่ตั้งใจไว้
    :- https://visalo.org/article/suksala23.htm
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    ใช้เจ้าตัวร้ายให้เป็นประโยชน์
    พระไพศาล วิสาโล
    พวกเราคงคุ้นกับคำ ๆ หนึ่งคือ ตัณหา ซึ่งหมายถึงความอยากได้อยากมีวัตถุ ตัณหานี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่ากิเลสก็ย่อมไม่ดีทั้งนั้น แต่คนเราก็จำเป็นต้องมีทรัพย์สมบัติ เพราะถ้าเราไม่มีทรัพย์สมบัติ เราก็เลี้ยงตัวได้ยาก ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ กามก็เช่นกัน แม้จะมีโทษ แต่ก็มีประโยชน์เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเปรียบว่ากามนั้นเหมือนกับคบไฟที่ทำด้วยหญ้าแห้ง เมื่อจุดไฟมันก็ให้แสงสว่าง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีควันคลุ้งทำให้เคืองตา และหากจุดแล้วไม่ยอมปล่อย ไฟนั้นก็จะไหม้ลามมือ คือมันมีทั้งคุณและโทษ แต่ถ้าเรายึดติดถือมั่นเมื่อไหร่ มันก็กลายเป็นโทษมากขึ้นเรื่อยๆ

    ทางออกจึงไม่ใช่ปฏิเสธมันแต่ใช้ให้เป็น ใช้ทรัพย์สมบัติ ใช้กามสุข โดยไม่ยึดติดมัน พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเรื่องความสุขทางวัตถุ แต่สอนว่าให้รู้จักใช้ เพื่อประโยชน์ตน เพื่อประโยชน์ท่าน ที่อาตมาว่าไม่ยึดติด ไม่ได้หมายความว่าทิ้งเลย มานะก็เช่นกัน ตราบใดที่เรายังลดละไม่ได้ เราก็ต้องใช้ให้เป็น ใช้อย่างรู้เท่าทัน คนสมัยก่อนใช้มานะเพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายาม ในเมื่อเขาทำได้เราก็ต้องทำได้สิ ความรู้สึกแบบนี้คือมานะ ซึ่งนำไปใช้ในทางที่ดีก็ได้


    คนที่ล้มเหลว รู้สึกแย่กับตัวเอง ถ้าเราชี้ให้เห็นว่า คุณมีคุณค่า มีความดีหลายอย่างที่คุณควรภาคภูมิใจ คุณอาจจะตกงานแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิต คุณอาจจะเป็นพ่อที่ดี เป็นแม่ที่ดี เป็นสามีภรรยาที่ดี คุณเป็นคนเก่ง มีความสามารถ ถ้าสู้อีกสักนิด ก็จะได้รับความสำเร็จ การชี้แนะแบบนี้ทำให้เขาเกิดความรู้สึกภูมิใจในตัวเองขึ้นมา รวมทั้งเกิดกำลังใจ ทำให้เขาฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตได้ สามารถทนภาวะตกงานได้ ไม่ฆ่าตัวตาย นี่คือการเอามานะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จากความรู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ก็ทำให้เขามีความรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมา


     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)

    บางครั้งมานะก็นำมาใช้ให้คนหลุดพ้นจากกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงมีชีวิตอยู่ในโลกอย่างไม่ทุกข์ระทมเท่านั้น มีตัวอย่างเช่นพระนันทะ ท่านเป็นญาติผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่กรุงกบิลพัสตร์ กำลังมีงานแต่งงานระหว่าง พระนันทะกับนางชนบทกัลยาณี พอเลี้ยงพระเสร็จ พระพุทธเจ้าท่านให้พระนันทะถือบาตรตามไปส่งที่วัด พอตามไปส่งถึงวัดแล้วพระนันทะกำลังจะกลับ พระพุทธเจ้าตรัสถามท่านว่า จะมาบวชหรือ พระนันทะไม่กล้าปฏิเสธ ก็เลยยอมบวช บวชแล้วก็ไม่มีความสุขเพราะคิดถึงคู่หมั้นซึ่งสวยมาก พระพุทธเจ้าจึงบันดาลนิมิตให้พระนันทะเห็นนางอัปสรซึ่งสวยงามมากกว่านางชนบทกัลยาณี พระพุทธเจ้าถามว่าอยากได้นางอัปสรไหม พระนันทะบอกว่าอยากได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าอยากได้ก็ต้องปฏิบัติ พระนันทะปฏิบัติเพราะอยากได้นางอัปสร ลืมคนรัก นี่คือตัณหา ปฏิบัติเพราะตัณหา พอปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็มีทุกข์ขึ้นมา เพราะเพื่อนพระล้อว่า มาปฏิบัติก็เพราะอยากได้นางอัปสรบ้าง ถูกพระพุทธเจ้าจ้างมาบ้าง ถ้าเราถูกวิจารณ์อย่างนี้ เราจะทำอย่างไร บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าเช่นนั้นฉันไม่เอาแล้ว สึกกลับบ้านดีกว่า แต่คนที่มีขัตติยะมานะไม่ทำเช่นนั้น ขัตติยะมานะทำให้พระนันทะรู้สึกเสียหน้าก็จริง แต่ก็ต้องการลบคำสบประมาท จึงตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง คราวนี้ไม่สนใจนางอัปสรแล้ว อันนี้คือมานะ เพราะถูกคนต่อว่า รู้สึกเสียศักดิ์ศรี จึงต้องการพิสูจน์ตัวเอง ปรากฏว่าท่านเพียรปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลาไม่นาน

    มานะนั้นถ้านำมาใช้ให้เป็น ก็สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความเพียรในการทำความดี จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสหยาบๆ ไปสู่ความหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้เหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน ตัณหาก็สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติธรรมได้ สมัยพุทธกาลมียาจกเข็ญใจคนหนึ่งมาบวชเพราะเห็นว่าเป็นพระแล้วสบาย ไม่ต้องไปขอทาน เมื่อมาบวชแล้วก็ยังเสียดายเสื้อผ้า จึงเอาเสื้อผ้าไปเก็บไว้ในป่า พอบวชได้ซักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่า การเป็นพระนั้นลำบาก มีสิกขาบทมากมาย ทำให้ยุ่งยาก อยากสึกขึ้นมา จึงเข้าไปป่าเพื่อจะไปเอาเสื้อผ้าที่เคยเก็บไว้มาใส่ แต่พอเห็นเสื้อผ้าขาดปุปะก็ทำให้นึกได้ถึงชีวิตที่ลำบากสมัยเป็นฆราวาส ก็เลยเปลี่ยนใจ หันมาบวชต่อ ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เวลาท่านเข้าป่าแล้วกลับออกมา เพื่อนก็ถามว่าไปไหน ท่านตอบว่าไปหาอาจารย์ จนต่อๆ มาท่านเจริญก้าวหน้าในธรรมอย่างมากจนกระทั่งหลุดพ้น หลังจากท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่เคยเข้าไปในป่าอีกเลย เพื่อนก็ถามว่า เดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปหาอาจารย์อีกแล้วหรือ ท่านก็ตอบว่าเดี๋ยวนี้ไม่ต้องพึ่งอาจารย์แล้ว คนก็คิดว่าท่านอวดอุตริมนุสธรรม จึงไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระรูปนี้ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
    การที่มาบวชเพราะว่าอยากสบาย และไม่กล้าสึกเพราะกลัวลำบาก อันนี้ก็คือตัณหานั่นเอง แต่ในกรณีนี้ ตัณหากลายเป็นของดี เพราะทำให้ท่านได้พบพระธรรมจนพ้นทุกข์ได้ เพราะกิเลสถ้าเราใช้ให้เป็นก็จะสามารถทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าได้ หรืออย่างน้อยก็ดูแลให้มันอยู่ในกรอบ ไม่ทำให้เราผิดศีลหรือเบียดเบียนใคร ขณะเดียวกันก็พยายามเอากุศลธรรมตัวอื่นเข้ามาเสริม จนกระทั่งกลายเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน กุศลธรรมได้แก่ เมตตา กรุณา เช่นเราทำอะไรก็ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น หรือเพราะนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวม อย่าใช้อัตตาหรือตัวตนเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างเดียว
    :- https://visalo.org/article/suksala15.htm


     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    นึกถึงนิพพานและความตายเป็นนิจ
    พระไพศาล วิสาโล
    พวกเราชาวพุทธ ควรน้อมเอานิพพานเป็นจุดหมายของชีวิต เพราะเหตุว่า ประการแรก การนึกถึงนิพพานช่วยทำให้เรามีความเพียร ขวนขวายในการทำความดี คล้ายๆ เป็นแรงกระตุ้นให้เราทำความดี โดยเฉพาะความดีที่ทำได้ยาก ก็จะกล้า กล้าทำ กล้าเสียสละ

    การบำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นการทำความดีอันยิ่งยวด จะกลายเป็นสิ่งไม่เหลือวิสัยที่เราอยากทำ โดยเฉพาะทานและศีล ถ้าเราเอาพระนิพพานเป็นเป้าหมาย ก็จะนึกถึงการสละ ไม่ใช่แค่สละเงินทอง แต่แม้กระทั่งอวัยวะหรือกระทั่งชีวิต ก็พร้อมที่จะทำได้ หากว่าเราจริงจังกับจุดมุ่งหมายของชีวิตดังกล่าว ถ้าเราไม่มีจุดมุ่งหมาย หรือมีแต่เป็นจุดหมายต่ำๆ เราอาจไม่ค่อยกระตือรือร้นในการทำความดีเท่าไหร่ เช่น ตั้งจุดมุ่งหมายว่าจะเป็นเศรษฐี หาเงินให้ได้สิบล้านหรือร้อยล้านภายในเวลาห้าปี เราก็จะคิดแต่การทำมาหากิน ส่วนการทำความดีจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ แต่พอเราถือเอาพระนิพพานเป็นจุดหมายของชีวิต ก็จะเกิดความเพียร เกิดความพยายามมากขึ้นแม้ว่าจะยากก็ตาม
    ประการที่สอง เวลาเจอความทุกข์ เราจะรับมือกับมันได้ดีขึ้น คนเราบ่อยครั้งพอเจอทุกข์เข้ามากระทบ ก็จะเกิดความโกรธ ความเศร้าโศกเสียใจ จนลืมตัวหรือเสียศูนย์ แต่พอเราคิดว่าจุดหมายของชีวิตของเราคือนิพพาน ความทุกข์เหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย อาจจะได้สติหรือได้คิดว่า ถูกเขาต่อว่าด่าทอแค่นี้ ยังหัวเสีย ยังกลุ้มใจ เงินหาย ตกเครื่องบิน รถติด แค่นี้ก็ยังทำใจไม่ได้ แล้วจะเข้าถึงนิพพานได้อย่างไร

    บางคนเวลาเจ็บป่วยก็โวยวายตีโพยตีพายว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นฉัน หรือเวลาอกหักเพราะคนรักทิ้งไป ก็เอาแต่เศร้าโศกเสียใจ แต่พอคิดได้ว่า ชีวิตเราเอาพระนิพพานเป็นเป้าหมายไม่ใช่หรือ ความทุกข์แบบนั้น จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย จะได้คิดว่า ถ้าแค่นี้ยังฟูมฟายโวยวายตีโพยตีพาย แล้วจะไปถึงพระนิพพานได้อย่างไร ความทุกข์ทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปหมด เมื่อเราเอาพระนิพพานเป็นจุดหมาย

    บางครั้งเราจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมเราถึงเจอความทุกข์มากขนาดนี้ คนอื่นไม่เห็นทุกข์เหมือนเราเลย เหมือนกับถูกชะตากรรมกลั่นแกล้ง แต่ถ้าเราลองนึกเสียว่า นี่คือข้อสอบของชีวิต อย่างที่บอกไว้แล้วว่า นิพพานอาจจะเหมือนกับปริญญาเอก กว่าจะจบปริญญาเอกได้ เราต้องผ่านการเรียนหนัก ต้องเจอข้อสอบที่ยากๆ ยากกว่าข้อสอบของนักเรียนประถม นักเรียนมัธยม หรือนักศึกษาปริญญาตรี คนอื่นเขาเรียนแค่ปริญญาตรี แต่นี่เรากำลังจะเอาปริญญาเอก เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าข้อสอบที่เราเจอ ยากกว่าของคนอื่น มันก็เป็นธรรมดาไม่ใช่หรือ ของที่ประเสริฐหากอยากได้ อุปสรรคก็ต้องมากตามไปด้วย ฉะนั้นถ้าเรามองว่าอุปสรรคหรือความยากลำบากในชีวิต คือข้อสอบ ซึ่งย่อมต้องยากตามระดับขั้นของจุดมุ่งหมายที่ต้องการบรรลุ คนที่มีจุดมุ่งหมายอยู่บนเขาสูง ก็ต้องเหนื่อยมากกว่าคนที่จุดมุ่งหมายอยู่บนพื้นราบ ฉะนั้นคนอื่นเขาเดินสบาย แต่ว่าเราเดินลำบาก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องธรรมดา

    ถ้าเรามีนิพพานเป็นจุดหมาย เวลาเราเจอความทุกข์ เราจะรู้เลยว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องฝึก ต้องลด ต้องละ ต้องปล่อย ต้องวาง ถ้าเจอคำต่อว่าด่าทอ ยังเก็บเอามาคิดไม่เลิกไม่รา แล้วจะปล่อยวางตัวตน ปล่อยวางตัวกูของกูได้อย่างไร แค่ขี้ปากของคนอื่น เรายังปล่อยวางไม่ได้ แล้วเรื่องใหญ่ แม้กระทั่งกายและใจ จะปล่อยวางได้อย่างไร ให้ลองคิดแบบนี้ดูบ้าง จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และทำให้เราหมั่นทำความดีที่ทำได้ยาก
    ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่านิพพานเป็นสิ่งที่สูงส่งเหลือเกิน บางคนสงสัยด้วยซ้ำว่านิพพานมีจริงหรือไม่ หรือถึงเชื่อว่ามีจริงก็คิดว่า เป็นเรื่องที่ไกลมาก ต้องผ่านหลายภพหลายชาติกว่าจะเข้าถึงได้ ก็อาจจะท้อ หรือไม่แน่ใจว่า ทำแล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า ก็ให้ลองนึกอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือความตาย ความตายของเราเอง

    นิพพานกับความตาย ถ้าจะว่าไปแล้วตรงข้ามกันเลย นิพพานคือความไม่เกิดไม่ตาย นิพพานคือบรมสุข พระพุทธเจ้าตรัสว่า “"นิพพานํ ปรมํ สุขํ" นิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ส่วนความตายนั้นถือว่าเป็นสุดยอดแห่งความทุกข์ เจอทุกข์ใดก็ไม่หนักเท่ากับความตาย นิพพานอาจจะอยู่ไกลแล้วก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า แต่ความตายนี้จริงแท้แน่นอน และก็อยู่ใกล้ตัวเรามาก อย่างที่มีภาษิตทิเบตบอกว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน” เดินลงบันไดอาจจะพลัดตกบันได หัวกระแทกพื้นตายก็ได้ หรือเข้าห้องน้ำลื่นไถล หัวฟาดพื้นตายก็ได้ มันใกล้ตัวมาก
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    แต่ทั้งๆ ที่นิพพานกับความตาย เหมือนกับเป็นสิ่งตรงข้ามกันเลย แต่ว่ามีประโยชน์เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง เวลาเรานึกถึงความตาย มันจะทำให้เราขวนขวายในการทำความดี เพราะว่าความตายมาบอกมาเตือนให้เรารู้ว่า ชีวิตนี้จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องเร่งทำความดี

    ยิ่งเวลาเรานึกถึงความตายของเรา ว่าอาจจะเจ็บปวดอาจจะทุกข์ทรมาน ลองนึกภาพนี้ไว้บ้าง เวลาไปเยี่ยมคนป่วยตามโรงพยาบาล มีสายระโยงระยาง คนเหล่านี้เขากำลังสอนเราว่า วันหน้าเราก็จะเป็นอย่างเขา เวลาเห็นความทุกข์ของคนที่กำลังจะตาย ถามใจตัวเราเองว่า เราจะผ่านความทุกข์อย่างนั้นไปได้ไหม เมื่อใดที่เราตระหนักว่า จำเป็นต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อผ่านความทุกข์ความทรมานไปได้ในขณะที่กำลังตาย เราก็จะยิ่งเห็นความสำคัญของการทำความดี ทำความดีให้มากๆ แล้วก็ละเว้นความชั่ว เพราะว่าความดีที่เราทำ จะส่งผลให้ เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะไม่ทุกข์ทรมานมาก อาจจะมีความทุกข์ทางกาย แต่ว่าใจไม่ทุกข์

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บุญย่อมทำให้เกิดสุขในเวลาสิ้นชีวิต” เมื่อนึกถึงความตายแล้วอยากจะตายแบบไม่ทรมาน อยากจะตายดี มันก็จะเป็นตัวเร่งเร้าให้เราขยันทำบุญทำกุศล และละเว้นความชั่วด้วย ทำบุญทำกุศล แต่ความชั่วไม่เลิกไม่ละเว้น ก็ไม่ถูกต้อง เพราะถ้ายังทำความชั่วอยู่ ถึงเวลาตายก็จะตายแบบทุรนทุราย เพราะว่านึกถึงความชั่วที่ได้ทำ บางทีเกิดความหวาดกลัวว่า ตายแล้วจะไปอบาย ไปนรก ก็ทำให้เกิดอาการฮึดฮัด ขัดขืน ต่อสู้กับความตาย เกิดอาการผวา หลายคนเป็นอย่างนั้น หรือมิเช่นนั้นก็เกิดนิมิต เกิดภาพที่น่ากลัว อาจเป็นภาพหลอน หรือภาพที่สืบเนื่องกับความชั่วที่ทำในอดีตก็ได้ อย่างคนที่เขาฆ่าสัตว์อยู่เป็นประจำ เวลาจะตาย หลายคนเห็นภาพสัตว์ที่ตัวเองฆ่า มาร้องโหยหวน จนหวาดผวา นี้เรียกว่าเป็นการซ้ำเติม กายทุกข์อยู่แล้ว ใจก็ยังทุกข์ตามไปด้วย ถ้าไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบนี้ อยากตายสงบ ไม่ทรมาน ก็ต้องละเว้นความชั่ว ทำความดีมากๆ สร้างบุญสร้างกุศลเป็นนิจ

    หลายคนเสียใจเมื่อนึกถึงสิ่งที่ควรทำแต่ไม่ได้ทำ ควรให้เวลากับพ่อแม่ก็ไม่ได้ให้ ควรให้เวลากับลูกก็ไม่ได้ทำ เวลาจะตายก็รู้สึกเสียใจ เสียใจว่าฉันละทิ้งสิ่งที่ควรทำ หรือว่าเกิดความห่วง เกิดความวิตกกังวลว่า เมื่อฉันตายแล้ว ลูกจะอยู่อย่างไร คนที่ห่วงแบบนี้เพราะว่า ตอนที่สุขภาพดี ชีวิตราบรื่น ก็ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่เขาอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะมัวเพลิดเพลินกับความสุขสนุกสนาน หรือหมกมุ่นกับงานการ นี่เรียกว่า ลืม ลืมตัวหรือขาดสติ แต่ถ้าเรานึกถึงความตายว่า สักวันหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับเรา มันจะทำให้เราไม่ผัดผ่อนหรือละเลยสิ่งที่ควรทำ แต่จะพยายามให้เวลากับคนที่เรารัก พยายามทำหน้าที่ที่เรามี กับคนที่อยู่รอบข้างและใกล้ตัว

    นอกเหนือจากการทำความดี หรือการทำประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว การนึกถึงความตาย หรือ มรณสติ ยังเป็นตัวกระตุ้นเร่งเร้าให้เราขวนขวายทำหน้าที่ที่มีอยู่ ไม่รอให้คั่งค้างหรือผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ หน้าที่นี้รวมไปถึงว่า เราเคยทำผิดกับใครก็ไปขอโทษขอโพยเสีย ไม่ใช่พอเวลาจะตาย ก็มานึกเสียใจว่ายังไม่ได้ขอขมา ยังไม่ได้ขอโทษเขา นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตายแบบทรมาน บางคนตายตาไม่หลับ เพราะรู้สึกผิด ที่ทำไม่ดีกับคนใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ ลูก หรือเพื่อนร่วมงาน แบบนี้อาตมาทั้งเจอและได้ยินบ่อย ผู้ป่วยใกล้จะตายแล้วแต่ตาค้างไม่ยอมตายสักที ทั้งๆ ที่อวัยวะต่าง ๆ แย่หมดแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาเสียใจที่ไม่ได้ขอโทษคนที่ตัวเองเคยทำไม่ดีเอาไว้

    พอนึกถึงความตายของตัวเอง สิ่งที่ควรทำ เราก็จะไม่รั้งรอ จะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป ด้วยการอ้างว่าทำวันหลังก็ได้ วันหลังก็มี เอาไว้ก่อน เอาไว้ก่อน เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ตรงข้าม เราจะรีบทำเลย รีบทำความดี รีบทำหน้าที่

    นอกจากนั้นหากเรานึกถึงความตายและอยากตายดี มันจะกระตุ้นให้เราเห็นความสำคัญของการปล่อยวาง เพราะถ้าไม่ปล่อยไม่วางก็อาจตายอย่างทรมาน คนที่ไม่อยากตายแบบทรมาน เขาจะฝึกจิตฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ใช่แค่ฝึกด้วยการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม แต่ฝึกทำสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน เวลาเจอความทุกข์ เจอความอกหัก เจอความเจ็บป่วย เจอความพลัดพราก เจอความสูญเสีย เช่น สูญเสียทรัพย์ สูญเสียคนรัก คนส่วนใหญ่ก็จะฟูมฟายเศร้าโศกเสียใจ หรือไม่ก็โกรธจนเสียศูนย์ แต่พอนึกถึงความตาย ความทุกข์แบบนี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะไม่มีอะไรที่ใหญ่กว่าความตาย

    ความทุกข์ทั้งหลายที่เราเจอ ไม่ว่าเคยเจอมาแล้วในอดีต หรือว่ากำลังเจออยู่ มันจะเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความตาย เงินหาย ถูกโกง หลายคนฟูมฟายมากมาย แต่ที่จริงเงินแสนหรือเงินล้าน ที่หายหรือถูกโกงไป มันน้อยนิดมาก เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดที่ต้องสูญเสียไปเวลาเราตาย เพราะถึงตอนนั้นมีมากเท่าไหร่ก็ต้องสละหมด บางคนถูกต่อว่าด่าทอก็เสียใจโมโห ความทุกข์พวกนี้นับว่าเล็กน้อยกว่าความเจ็บความทุกข์ทรมานเวลาเราจะตาย

    เวลานึกอย่างนี้ ว่าความตายคือสุดยอดแห่งความทุกข์ทั้งปวง มันจะช่วยให้เราปล่อยวางความทุกข์ หรือก้าวข้ามความทุกข์ต่างๆ ไปได้ง่าย เพราะเราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็ก มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปหมด เมื่อเทียบกับความตาย

    สตีฟ จอบส์ เป็นคนที่ดูเหมือนใช้ชีวิตทางโลกมาก แต่ตอนที่เขาป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายคือ โรคมะเร็งตับอ่อน อย่างหนึ่งที่เขาทำบ่อยคือการเจริญมรณสติ เขาเคยพูดว่า การระลึกถึงความตาย หรือมรณสติ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของชีวิต เขาบอกว่าแทบทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่ว่าความคาดหวังทั้งปวง ความถือตัว ความกลัวหน้าแตก และความล้มเหลว ทั้งหมดนี้จะเลือนหายไปหมดเมื่อนึกถึงความตาย ที่มันหายไป เพราะมันเป็นเรื่องที่เทียบไม่ได้กับความตาย ที่จะต้องเกิดขึ้นกับเขาไม่วันใดก็วันหนึ่ง

    ทดลองดูก็ได้ เวลาเรามีความทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ที่เกิดกับร่างกาย ทุกข์ที่เกิดกับหน้าตา ทุกข์ที่เกิดกับงานการ ทุกข์ที่เกิดเพราะคนรัก เราอาจจะลืมตัวฟูมฟายคร่ำครวญ แต่ทันทีที่นึกถึงความตาย ถ้านึกถึงจริงจัง ความทุกข์เหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย และมันทำให้เราผ่านเรื่องราวแบบนั้นไปได้ พูดอีกอย่างหนึ่ง มันทำให้เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้น สตีฟ จอบส์ จึงบอกว่ามันคือสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของชีวิต จะว่าไปแล้ว มรณสติเป็นเครื่องมือที่ดีและประเสริฐยิ่งกว่าไอโฟนหรือไอแพดที่เขาคิดค้นด้วยซ้ำ

    เพราะฉะนั้นเวลาเจอความทุกข์อะไรก็ตาม ถ้าเราไม่นึกถึงนิพพาน ก็ลองนึกถึงความตายดูบ้าง คนที่ฉลาดเวลาใจน้อมนึกถึงนิพพาน ก็จะเห็นความทุกข์ที่กำลังประสบคือแบบฝึกหัดที่มาฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง เพื่อที่เราจะได้ปล่อยวางในสิ่งที่ยากที่สุดในวันหน้า คือความยึดติดในตัวกูของกู หรือถ้าหากว่าใจไม่ได้นึกถึงนิพพาน เพราะไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือเปล่า หรือเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม ก็ให้นึกถึงความตายก็ได้ ความตายนั้นใกล้ตัวกว่ามากและเป็นของจริงที่หนีไม่พ้น ทันทีที่นึกถึงความตาย นึกถึงความตายที่ปรารถนา คือความตายด้วยใจสงบ เราจะได้คิดว่า หากทุกข์แค่นี้เรายังผ่านไปไม่ได้ แค่รถติดยังหัวเสีย ตกเครื่องบินก็ยังโวยวาย แล้วถึงเวลาตายเราจะตายอย่างสงบได้อย่างไร ลองคิดแบบนี้บ้าง

    ทุกข์ทั้งหลายที่เราเจอ หากรู้สึกหมดเนื้อหมดตัว หรือลืมตัวไปกับมัน ลองตั้งสติคิดสักหน่อยว่า แค่นี้ยังไม่ผ่านเลย แล้วถึงเวลาตายเราจะตายสงบ จะตายดีได้อย่างไร

    ถ้าคิดแบบนี้ได้ เราจะมีสติ และทำให้เรากล้าที่จะสลัด กล้าที่จะปล่อย กล้าที่จะวางหรือเห็นความจำเป็นของการปล่อยวาง ที่จริงใจจะปล่อยวางไปได้เองพอเราคิดแบบนี้จริงจัง เพราะความทุกข์ทั้งหลายที่เราเจอจะกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ จะกลายเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับความตาย

    ถ้าเรามองแบบนี้ได้ เวลาเราเจอความทุกข์ใด ๆ ก็ตาม แม้เราไม่อยากเจอก็ตาม เช่น ความเจ็บป่วย อกหัก งานล้มเหลว เสียหน้าเพราะมีคนมาต่อว่า เราจะมองว่ามันคือแบบฝึกหัด เพื่อฝึกใจเราให้พร้อมสำหรับบททดสอบที่ยากที่สุด ซึ่งจะมาถึงอย่างแน่นอน บททดสอบนั้นคือความตาย เป็นข้อสอบ เป็นการสอบไล่ของวิชาชีวิต

    ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา จะว่าไปก็คือการสอบซ่อมสอบกลางภาค เป็นการทดสอบว่าเราสามารถจะผ่านการสอบไล่ของชีวิตได้หรือไม่ พูดอีกอย่างคือเป็นการทดสอบว่า เราพร้อมที่จะตายอย่างสงบไหมเมื่อวันนั้นมาถึง หรือไม่ก็ลองมองว่ามันเป็นบททดสอบว่าเราจะไปถึงนิพพานได้ไหม แต่ถ้าคิดว่านิพพานเราคงถึงได้ยาก ก็ลองมองว่า มันเป็นแบบทดสอบว่าเราจะตายอย่างสงบได้ไหม ถ้าพบว่าไม่ได้เพราะยังหัวเสีย ยังกลุ้มใจกับทุกข์ที่เจอวันนี้ ก็ไม่เป็นไร ถือว่าสอบตก แล้วก็เตรียมตัวใหม่ เตรียมตัวสอบให้ดีกว่านี้ เพราะว่าข้อสอบจะมาเรื่อยๆ ตามวันเวลา

    อย่างที่เราได้สวดตอนเช้าว่า “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว” ทุกข์เบื้องหน้าตัวใหญ่ๆ ก็คือ ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย และความตาย ความแก่ ความเจ็บ เป็นเรื่องที่หลายคนกลัว หนุ่มสาวหลายคนกลัวความแก่มากเลย อายุยี่สิบก็รู้สึกว่าตัวเองแก่แล้ว แต่ความแก่ยังเป็นเรื่องเล็ก เพราะแม้แก่ก็ยังมีความสุขได้ กินอะไรก็ยังอร่อยอยู่ ไปเที่ยวที่ไหนก็ยังได้ แต่พอนึกถึงความตาย ความแก่นี้ชิดซ้ายไปเลย ทุกข์เพราะมีสิว ทุกข์เพราะผมหงอก ทุกข์เพราะผิวย่นหนังเหี่ยว พวกนี้กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับความตาย

    ถ้าหากวันนี้ยังทุกข์เพราะเรื่องนี้ เมื่อวันนั้นมาถึงเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ถ้าคิดแบบนี้มันทำให้เรา หนึ่ง ฝึกใจให้เข้มแข็งอดทน และสอง ฝึกให้รู้จักปล่อยวางให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เราอยู่กับความทุกข์ต่าง ๆได้ด้วยใจสงบ มันจะแก่ก็ช่างมัน อยู่กับความแก่ให้ได้ ถึงเวลาป่วยก็ถือว่าเขามาฝึกมาสอนเราให้รู้จักปล่อยวาง เพราะว่าวันหน้าเราจะต้องเจอหนักกว่านี้ วันหน้าต้องเจอทุกขเวทนาที่ยิ่งกว่านี้ ถ้าวันนี้ยังไม่ผ่าน แล้ววันหน้าจะผ่านไปได้อย่างไร พอคิดแบบนี้ก็จะมีแรงกระตุ้นให้ใจปล่อยวางได้ หรือพยายามก้าวข้ามมันไปให้ได้ ด้วยการฝึกจิต ด้วยการพัฒนาสติและปัญญาให้มากขึ้น

    ดังนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่ใฝ่ความเจริญงอกงามของชีวิต ก็ขอให้ลองนึกไว้สองอย่าง เป็นจุดหมายของชีวิต อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้หรือทั้งสองอย่างพร้อมกันเลยก็ได้ คือ หนึ่ง มีนิพพานเป็นจุดหมายของชีวิต หรือสอง เมื่อจะตายก็ขอตายดีตายสงบให้ได้ สองอย่างนี้เป็นตัวช่วย ที่จะผลักดันให้เราก้าวอย่างมั่นคงบนเส้นทางแห่งความดี เส้นทางแห่งบุญกุศล การสร้างบุญบารมี และขณะเดียวกันก็เป็นตัวช่วยตัวกระตุ้นให้รู้จักวางใจถูกต้องเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ความทุกข์ต่างๆ จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่พอทนไหว ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป และอาจกลายเป็นของดีด้วยซ้ำ คือเป็นแบบฝึกหัดเพื่อทำให้เราเข้มแข็งขึ้น มีสติมากขึ้น มีปัญญามากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น สิ่งร้ายๆ ที่ไม่อยากเจอจะกลายเป็นของดีไป ทำให้เรายิ้มรับกับมันได้

    :- https://visalo.org/article/dhammamata18_1.html
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    ขจัดสารพิษในจิตใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    เดี๋ยวนี้ผู้คนนิยมทำ “ดีท็อกซ์” กัน ดีท็อกซ์เป็นภาษาอังกฤษแปลว่า ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เช่น การสวนทวาร เดี๋ยวนี้คนนิยมมาก สวนทวารด้วยน้ำก็มี สวนด้วยกาแฟก็มี ไม่น่าเชื่อว่าจะแพร่หลายไปได้ คนที่มีการศึกษาใช้วิธีการนี้กันเยอะ บางคนเสียเงินเป็นหมื่นไปเข้าโปรแกรมดีท็อกซ์ มีการขจัดสารพิษวิธีหนึ่งที่เชื่อว่าได้ผลมาก ก็คือการอดอาหาร เหตุผลก็คือเมื่อร่างกายไม่มีอาหารเข้าไป ระบบย่อยอาหารก็ได้พักผ่อน เพราะไม่มีอะไรจะให้ย่อย ทีนี้ระบบย่อยอาหารก็จะเปลี่ยนหน้าที่ไปทำการขับสารพิษที่สะสมในร่างกายออกมา มันสลับกัน ถ้ารับอาหารเข้าไป มันจะทำหน้าที่ย่อย ย่อยแล้วก็ดูดเอาสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย แต่พอไม่มีอาหารเข้ามามันจะทำหน้าที่ตรงข้าม คือขับเอาสารพิษออกจากร่างกาย

    ใครที่ได้อดอาหารจะเห็นเลยว่าสารพิษมันออกมามากมาย บางทีออกมาทางลิ้น จนลิ้นเป็นฝ้า บางทีออกมาตามผิวหนัง จนส่งกลิ่นเหม็น หรือทำให้ผิวหนังเป็นปุ่มเหมือนกับเป็นสิว บางทีก็ออกมาทางอุจจาระปัสสาวะ คนที่อดอาหารล้างพิษจะเจอแบบนี้ การล้างพิษบางทีแค่ไม่ต้องกินอะไร ร่างกายก็จะทำงานของมันเอง

    ถามว่านอกจากสารพิษในร่างกายและในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีที่อื่นอีกไหม อาตมาว่ามีนะ นั่นก็คือสารพิษในจิตใจ สารพิษในจิตใจก็น่ากลัวเหมือนกัน สารพิษในร่างกายมากับอาหาร สารพิษในจิตใจก็มาจากอาหารเหมือนกัน คืออาหารใจ ซึ่งก็คือความคิดหรืออารมณ์นั่นแหละ อาหารที่เรากินถ้าย่อยไม่หมดจะกลายเป็นสารพิษ อันนี้เราคงรู้กันดี สารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ในลำไส้ใหญ่ หรือในตับ ส่วนความคิดหรืออารมณ์ก็เช่นกัน ถ้าเราเสพเข้าไปแล้วไม่รู้จักขจัดออกไป มันก็หมักหมมนะ กลายเป็นสารพิษในจิตใจของเรา

    ความโกรธ ความหงุดหงิด ความกังวล ถ้าเกิดขึ้นแล้วต่อมามันหายไป ใจกลับสงบ เจอแบบนี้อย่าเพิ่งคิดว่าจบแล้ว ส่วนใหญ่มันยังไม่จบหรอก อารมณ์เหล่านี้ทิ้งอนุสัยเอาไว้ อนุสัยเป็นเหมือนเศษหรือตะกอนอารมณ์ที่ตกค้าง โกรธก็ดี เกลียดก็ดี อิจฉาริษยาก็ดี โลภก็ดี พวกนี้มันทิ้งตะกอนอารมณ์เอาไว้ ถ้าสะสมมากๆ เราก็จะโกรธง่าย เกลียดง่าย อิจฉาง่าย โลภง่าย แต่ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่อนุสัยหรือตะกอนอารมณ์ตะกอนกิเลสอย่างเดียว เพราะว่าอารมณ์ที่เราเสพหรือรับเข้ามา ส่วนใหญ่เราไม่ปล่อยให้จบแค่นั้น แต่ยังไปปรุงต่อเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาว อันนี้แหละจะกลายเป็นสารพิษที่น่ากลัวมาก เหมือนกับเราไปเติมเชื้อเติมฟืนให้กองไฟ ไฟเลยไม่ยอมมอด กลับลามใหญ่เลย

    ถ้ามอดเป็นเศษถ่าน เราก็เรียกว่าอนุสัย มันพร้อมที่จะช่วยให้ไฟลุกขึ้นใหม่ ยิ่งมีมากก็ยิ่งลุกง่าย แต่ว่าถ้าไม่ปล่อยให้มันมอด กลับไปเติมฟืนเติมเชื้อเข้าไปอีก กองไฟก็จะใหญ่ขึ้นๆๆและร้อนขึ้นๆๆ เหมือนไฟป่าอยู่ห่าง ๑๐ เมตรก็ยังรู้สึกร้อน ใครที่มีไฟโทสะเผาใจ แม้ลูกหลานที่อยู่รอบตัว ก็ยังรู้สึกร้อนตามไปด้วย นับประสาอะไรกับเราซึ่งมีไฟโทสะเผาลุกอยู่ในใจจะไม่ร้อนยิ่งกว่า ร้อนจนอยู่ไม่สุข กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาจทำให้ป่วยเป็นโรคความดัน โรคหัวใจ โรคประสาท หรืออาจอยากไปทำร้ายคนอื่น อันนี้แหละอาตมาเรียกว่าสารพิษในจิตใจซึ่งอันตรายมาก

    ถามว่าจะจัดการอย่างไร ประการแรกสุดก็คือเสพให้น้อยลง เหมือนกับการจัดการกับสารพิษในร่างกาย บางวันเราต้องงดบ้าง อาทิตย์หนึ่งงดสักหนึ่งวัน หรืองดเป็นบางมื้อ ปีหนึ่งอาจงดสัก ๗ วัน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเลือกกินอาหาร อาหารขยะควรงดหรือไม่ก็กินให้น้อยลง พูดง่ายๆ คือต้องรู้จักลดและละบ้าง สารพิษในจิตใจก็เหมือนกัน จัดการได้ด้วยการเสพอารมณ์ให้น้อยหรืองดเสียบ้าง หมายความว่าลดการออกไปเสพสิ่งเร้าจิตกระตุ้นใจให้น้อยลง ไม่ว่าแสง สี เสียง หรือสิ่งเสพ ก็ควรเพลาการบริโภคลงบ้าง ทุกวันนี้ผู้คนใช้เวลาไปกับการเสพสิ่งบริโภคทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเยอะมาก อยู่ว่างๆ ก็ทนไม่ได้ ต้องออกไปเที่ยวห้างฯ ไปดูหนัง เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ หรือไม่ก็ไปร่วมวงซุบซิบนินทากับเพื่อน วันๆ หนึ่งจึงเสพอารมณ์เยอะเหลือเกิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะ คือไม่มีประโยชน์
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    นอกจากลดการออกไปเสพสิ่งเร้าแล้ว การออกไปรับรู้เรื่องราวที่รบกวนจิตใจ ที่กระตุ้นให้เกิดความกังวล โทสะ และโลภะ ก็ควรจะลดลง ควรใช้ตาดูหูฟังรับรู้สิ่งดี ๆ ที่ไม่กระตุ้นกิเลส พูดง่ายๆ คือรู้จักเลือกรับสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ปิดหูปิดตานะ ปิดหูปิดตาไม่ใช่วิธีการที่ดี เราต้องรู้จักใช้ตาดูหูฟังในสิ่งที่ดี อะไรที่กระตุ้นโลภะ โทสะ โมหะ หรือสร้างสารพิษในจิตใจ เช่น ภาพยนตร์หรือละครน้ำเน่า สื่อลามก หรือรายการทางวิทยุโทรทัศน์ที่กระตุ้นความโกรธเกลียด เราควรลดหรือเลิกเสพ เหมือนกับที่เราสอนลูกว่าอย่าไปกินขนมขยะนะ เพราะมันมีสารพิษ หรือไม่ก็กินให้น้อย ไม่เช่นนั้นร่างกายจะเจ็บป่วย

    บางช่วงบางขณะก็ควรจะงดเสพงดรับสิ่งเหล่านี้ไปเลย เช่น มาอยู่วัด หรือหลีกเร้นมาอยู่ป่า เพื่อให้ใจว่างเว้นจากการเสพรับอารมณ์ต่างๆ บ้าง ใจจะได้พักผ่อนเต็มที่ ก็เหมือนกับที่เราควรอดอาหารบ้างอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้กระเพาะอาหารได้พักบ้าง พอใจได้พักแล้ว การจัดการกับตะกอนอารมณ์หรือสารพิษในจิตใจก็ทำได้ง่ายขึ้น

    นอกจากการเลือกรับเลือกเสพ หรือการงดรับอารมณ์แล้ว เรายังควรเรียนรู้วิธีดึงจิตกู้ใจออกจากอารมณ์ด้วย นี่คือการขจัดสารพิษออกไปจากใจ ช่วงนี้แหละที่ต้องอาศัยสติ ต้องอาศัยปัญญาเข้ามาจัดการ หลบมาอยู่ที่วิเวกไม่พอ ต้องฝึกสติให้มาทำหน้าที่ขจัดสารพิษออกไปจากจิตใจของเรา นอกจากจะไม่รับเพิ่มแล้ว ยังต้องเอาขจัดสิ่งที่สะสมอยู่ในใจออกไปด้วย อันนี้เป็นหน้าที่ของสติและปัญญาโดยตรง สติช่วยให้เรารู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้แล้วก็ปล่อยวางได้ ไม่เก็บเอามาปรุงแต่งจนลุกลามใหญ่โต อารมณ์เหล่านี้หากสติเข้าไปรู้ทัน เมื่อมันหายไป มันจะไม่ทิ้งตะกอนหรืออนุสัยเอาไว้ ไม่เหมือนกับการห้ามความคิดหรือกดข่มอารมณ์ นอกจากมันจะไม่หายง่าย ๆ แล้ว มันยังทิ้งตะกอนอารมณ์ที่พร้อมจะปะทุขึ้นใหม่ได้ง่ายขึ้น

    ไม่ว่าสารพิษในสิ่งแวดล้อม สารพิษในร่างกาย สารพิษในจิตใจ ล้วนเป็นอันตรายทั้งนั้น เราจึงต้องรู้จักหาวิธีขจัดสารพิษออกไปจากสิ่งแวดล้อม ร่างกายและจิตใจให้ได้ สำหรับสารพิษอย่างหลัง จะขจัดได้ก็ต้องเริ่มจากการหมั่นมองตนอยู่เสมอ
    :- https://visalo.org/article/komol255111.htm
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    รักษาใจ อย่าให้ความสุขถูกปล้น
    พระไพศาล วิสาโล
    ที่ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ชายคนหนึ่งอยู่บ้านคนเดียว ทุกวันเขาก็ไปทำงานที่บริษัท วันหนึ่งเขาสังเกตว่าในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมามีของในบ้านหายหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหารดี ๆ ที่เขาอุตส่าห์ซื้อมาเก็บไว้ในตู้เย็นและในตู้เก็บของ อยู่ดี ๆ ก็หายไป ไม่รู้หายไปไหน เขาก็เลยสงสัยว่ามันต้องมีคนมาขโมย แต่ก็จับไม่ได้สักที เขาจึงติดกล้องวงจรปิดทุกจุดในบ้าน กล้องวงจรปิดสามารถถ่ายทอดสัญญาณมาที่โทรศัพท์มือถือได้ โทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่นนั้นพัฒนามาก สามารถที่จะรับสัญญาณภาพจากกล้องวงจรปิดในบ้านได้
    วันหนึ่งเขาออกไปทำงานตามปกติ พอเปิดภาพดูสักพักก็จะเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมายุ่มย่ามในบ้านของเขา แล้วก็เอาของใช้และของกินในบ้านไป เขาก็รีบเรียกตำรวจทันที ตำรวจก็มาที่บ้านและพบว่าประตูบ้านยังปิดแน่นหนา ไม่มีร่องรอยการเปิดเข้าไป เมื่อตำรวจเข้าไปในบ้าน ทุกอย่างก็ปกติ หน้าต่างไม่มีร่องรอยงัดแงะ แล้วผู้หญิงคนนั้นเข้าไปได้อย่างไร ตำรวจพยายามค้นหาทุกซอกทุกมุมเพราะเชื่อว่ามีคนอยู่ในบ้านแน่นอน ในที่สุดก็เจอผู้หญิงคนนั้นซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า เธอยอมรับว่าเป็นขโมย และที่น่าแปลกก็คือเธอบอกว่าอยู่ในบ้านของผู้ชายคนนั้นมาสองเดือนแล้ว เธอไม่ได้ไปไหนเลย ซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลาเพราะว่าเป็นคนจรจัด เร่ร่อน เธอเล่าว่าวันหนึ่งเห็นประตูบ้านหลังนี้เปิดอยู่ก็เลยเข้าไป แล้วก็ซ่อนตัวอยู่ในตู้เสื้อผ้า เวลาเจ้าของบ้านออกไปทำงาน เธอก็ออกมาอาบน้ำ กินข้าว พอเจ้าของบ้านกลับมาก็ซ่อนตัวอยู่ในตู้เหมือนเดิม ผู้ชายคนที่เป็นเจ้าของบ้านนึกว่าเขาอยู่คนเดียวในบ้านมาโดยตลอด แต่ที่แท้ก็มีคนอยู่ในบ้านกับเขาด้วย เพราะฉะนั้นพวกเราเวลาอยู่คนเดียวก็ต้องแน่ใจนะว่าอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่กับเราด้วย

    ผู้ชายคนนี้หลงคิดว่าขโมยอยู่นอกบ้าน จึงคิดแต่จะป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้ามา แต่ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าที่จริงแล้วขโมยอยู่ในบ้าน และซุกซ่อนอยู่ใกล้ตัวเขามาตลอด ที่จริงไม่ใช่แต่ผู้ชายคนนี้ ตัวเราก็มีขโมยอยู่ข้างในเหมือนกัน เวลาเรากินอาหารเข้าไป แทนที่สารอาหารจะเข้าไปเลี้ยงร่างกายเรา มันกลับถูกขโมยไปเลี้ยงพยาธิ หรือไม่ก็ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งจนเติบใหญ่เป็นก้อน อันนี้ก็เป็นการขโมยเหมือนกัน คือขโมยสุขภาพของเราไป ไม่ใช่แค่สิ่งภายนอกเท่านั้นที่ทำให้สุขภาพของเราแย่ บางทีตัวการที่บั่นทอนสุขภาพเราก็อยู่ในร่างกายของเรานี้เอง แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือสิ่งที่ขโมยความสุขไปจากเรา ซึ่งไม่ได้อยู่ข้างนอก ตัวขโมยความสุขจริง ๆ อยู่ข้างใน ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก อยู่ในใจเรา
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    เราอย่าไปคิดว่าเป็นเพราะเจ้านาย เป็นเพราะเพื่อนร่วมงาน หรือว่าเป็นเพราะนักการเมือง หรือว่าเพื่อนบ้านที่ทำให้เราไม่มีความสุข หรือทำให้ความสุขของเราลดน้อยถอยลง ที่จริงแล้วความสุขหายไปก็เพราะว่าขโมยที่อยู่ในใจเรานั้นเอง คือกิเลสและอารมณ์ต่าง ๆ ที่ครอบงำใจเรา ถ้าใจเราเปิดให้อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาครองใจ เช่น ความโกรธ ความเศร้าเสียใจ ความหดหู่ ความอิจฉา ความน้อยเนื้อต่ำใจ เราก็ไม่มีความสุข สิ่งเหล่านี้คือตัวการที่ขโมยความสุขไปจากเรา ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ใครที่อยู่ข้างนอก

    แต่ว่ายังไม่สายที่เราจะไล่ขโมยเหล่านี้ออกไปจากใจของเรา วิธีการก็คือทำใจของเราให้มั่นคง เข้มแข็ง ไม่เปิดให้อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาครอบงำได้ จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องปลูกสติขึ้นมารักษาใจ สติเปรียบเหมือนยามเฝ้าบ้าน เป็นผู้รักษาประตูเมือง บ้านหรือเมืองก็คือใจ สติจะเป็นยามรักษาใจไม่ให้ ขโมยหรือโจรผู้ร้ายเข้ามาก่อกวนจิตใจ หรือขโมยความสุขไปจากใจเรา ถ้าเรามีสติดีเราจะไม่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ ทุกวันนี้เราทุกข์เพราะเราปล่อยใจไปตามอารมณ์ หรือปล่อยให้อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาครอบงำ ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง หมกมุ่น ครุ่นคิดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ จนเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรามีสติเราก็จะรู้ตัวว่าตอนนี้อารมณ์เข้ามาครอบงำใจ หรือกำลังขโมยความสุขไปจากเรา สติช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนกับเจ้าของบ้านที่เห็นขโมยกำลังยุ่มย่ามอยู่ในบ้าน ขโมยนั้นพอรู้ว่าเจ้าของบ้านรู้ทัน มันก็จะหนีไปเอง ไม่ยอมอยู่ให้ถูกจับง่าย ๆ

    การปฏิบัติธรรมก็คือการสร้างสติหรือธรรมะมารักษาใจ ซึ่งก็ช่วยทำให้เรามีความปกติสุขได้ เวลามีอะไรมากระทบหรือเวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้น มันก็กระเทือนได้แต่ภายนอก อาจจะทำให้ทรัพย์สมบัติของหายไป แต่ก็ไม่ทำให้เราทุกข์ใจ อาจจะทำให้เราเจ็บป่วย แต่มันก็หยุดอยู่แค่กาย ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ด้วย แม้จะมีคนตำหนิ ต่อว่า คำตำหนิต่อว่านั้นก็เป็นเพียงแค่เสียงที่มากระทบกับหู แต่ว่ามันไม่สามารถทิ่มแทงใจเราได้ ทั้งนี้เพราะว่าเรามีสติคอยเป็นยามรักษาใจของเรา การปฏิบัติธรรมก็คือการเสริมสร้างสติปัญญา รวมทั้งสมาธิและคุณสมบัติอื่น ๆ ในฝ่ายบวกให้เกิดขึ้นในใจเรา เพื่อที่เราจะสามารถมีความสุขได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่สุขกายเท่านั้น แต่สุขใจด้วย แม้ในยามที่กายทุกข์ แต่ว่าใจก็ยังเป็นสุข ในยามที่เจอความพลัดพรากสูญเสียใจก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่ามันเป็นธรรมดา หรือเพราะรู้ว่าถ้าปล่อยใจให้ทุกข์ก็มีแต่จะซ้ำเติมตัวเอง เมื่อจะเสียก็เสียอย่างเดียว จะไม่ยอมเสียสองอย่าง เสียคนรักก็เสียแค่นั้น แต่ว่าใจไม่เสีย สุขภาพไม่เสีย ยังเป็นผู้เป็นคนอยู่ได้ ก็ทำให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุข นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องมี

    เราอย่าไปคิดว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้นกับเราได้ในทุกเรื่อง บางคนมีความหวังอย่างนั้น พยายามทำบุญทำทาน เข้าวัดเป็นประจำ ด้วยความเชื่อว่าบุญนั้นจะช่วยปกป้องไม่ให้เกิดเหตุเภทภัยได้ ตอนนี้หลายคนก็ไปทำบุญเพราะหวังว่าจะไม่เกิดภัยพิบัติขึ้นในปีนี้เหมือนอย่างปีก่อน บุญนั้นช่วยได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันเหตุร้ายได้ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ขนาดคนที่มีบุญมากมายอย่างพระอรหันต์หลายท่านหรือแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังต้องเจอกับเหตุร้าย แล้วเราเป็นแค่ปุถุชน ไม่ว่าเราจะทำบุญแค่ไหน บุญก็ไม่สามารถจะเป็นทำนบหรือกำแพงป้องกันเหตุร้ายได้ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ มันก็คงมีที่ทะลักหรือเล็ดรอดเข้ามาถึงตัวเราบ้าง ตรงนี้แหละที่เราต้องอาศัยใจที่ฉลาดในการป้องกันไม่ให้ความทุกข์มาแผ้วพานหรือมาทำร้ายได้ ก็เหมือนกับการที่เราพยายามป้องกันน้ำท่วม ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไรก็ต้องเผื่อใจไว้ว่ามันอาจจะล้นข้ามทำนบมาได้ แต่ไม่ว่ามันจะมาอย่างไรเราก็สามารถรับมือกับมันได้ เพราะว่าเราไม่ได้เตรียมแต่ตัวหรือเตรียมการป้องกันด้วยวัตถุเท่านั้น แต่เรายังป้องกันที่จิตใจของเราด้วย ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะมีคำตอบว่าทำไมต้องมาปฏิบัติธรรม คนที่เข้าใจความจริงของชีวิตจะไม่ถามด้วยซ้ำว่าทำไมต้องปฏิบัติธรรม เพราะเขารู้ว่าอนาคตมันก็ไม่แน่

    การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ อย่างที่เขาพูดว่า “ยามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบ” ไม่ใช่ว่าต่อเมื่อเกิดสงครามแล้วค่อยมาฝึกกัน ประเทศใดที่ทหารเริ่มมาฝึกซ้อมกันเมื่อเกิดสงครามแล้ว ประเทศนั้นก็คงถูกยึดครองหรือพ่ายแพ้ต่อศัตรูเป็นแน่ ทุกประเทศจึงต้องฝึกในยามสงบ ฝึกอย่างจริงจังเพื่อว่าพอเกิดสงครามจะได้รับมือกับมันได้ทันท่วงที ชีวิตของคนเราก็ต้องเจอกับสงครามเช่นกัน คือสงครามชีวิต ไม่มากก็น้อย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ขณะที่ชีวิตยังสงบราบเรียบเราก็ต้องฝึกเอาไว้ก่อน

    เราฝึกเพื่อพร้อมรับมือกับเหตุร้ายที่เข้ามาในชีวิต ไม่ใช่สู้กับใคร ไม่ได้สู้กับสิ่งภายนอก สิ่งสำคัญคือสู้กับสิ่งภายใน คือสู้กับกิเลส สู้กับความหลงที่คอยก่อความทุกข์ให้แก่ใจเรา

    อย่างที่บอกไปแล้วว่าตัวขโมยความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่ที่ใจของเรา เราต้องเข้าใจตรงนี้ให้ดี เห็นให้ชัด ศึกษาให้แจ่มแจ้ง แล้วเราก็จะรู้ว่ามันมีวิธีที่จะทำให้ใจของเราสามารถปลอดภัยไร้ปัญหาได้ ไม่ใช่ด้วยการหลบไปหาที่ปลอดภัย เหมือนกับที่ตอนนี้หลายคนกำลังเตรียมหาที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติ เช่น มาซื้อที่ที่แก้งคร้อ ชัยภูมิ เพื่อที่จะหนีภัยพิบัติ อาจเป็นเพราะว่าชื่อ “ชัยภูมิ” เป็นชื่อที่มีความหมายดี แต่ถึงแม้จะได้ที่ปลอดภัยก็อาจจะปลอดภัยแค่บางเรื่อง แต่ว่าอาจเจอภัยอย่างอื่นก็ได้ เช่นมาอยู่จังหวัดชัยภูมิ อาจไม่เจอน้ำท่วม ไม่เจอแผ่นดินไหว ไม่เจอคลื่นยกตัวสูง แต่ว่าก็ต้องเจอภัยอย่างอื่นอย่างแน่นอน
    อาจจะไม่ใช่ภัยพิบัติแต่เป็นภัยธรรมชาติที่ทุกคนต้องเผชิญ นั่นคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากสูญเสีย สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีธรรมะรักษาใจก็จะเกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ หนีไม่พ้น แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะอันประเสริฐก็จะหลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจได้ หลุดพ้นอย่างไร หลุดพ้นที่ใจ แม้ว่าร่างกายจะเสื่อม แม้ว่าร่างกายจะป่วย แต่ใจไม่ป่วยด้วย อันนี้สำคัญมาก

    :- https://visalo.org/article/komol5610.htm
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    ปัญญาพาสุข
    พระไพศาล วิสาโล
    รายการ “พลเมืองเด็ก” ของทีวีไทยเป็นรายการที่พาผู้ชมไปรู้จักกับเด็กจากภูมิหลังที่หลายหลาย ซึ่งถูกชวนมาทำสาธารณประโยชน์ ผู้ชมจะได้เห็นว่าแต่ละคนมีวิธีคิดอย่างไร และแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อประสบอุปสรรค เป็นรายการที่เหมาะทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่และครูบาอาจารย์

    คราวหนึ่งรายการนี้ได้นำเสนอเรื่องของเด็ก ๓ คนที่ได้รับมอบหมายให้ขนของขึ้นรถไฟ บังเอิญช่วงนั้นมีการถ่ายทอดสดการชกของสมจิตร จงจอหอ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก เด็กชาย ๒ คนจึงทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ที่ร้านข้าง ๆ ปล่อยให้เพื่อนซึ่งเป็นผู้หญิงขนของอยู่ผู้เดียว

    เด็กหญิงทำงานไม่หยุดเพื่อให้เสร็จทันเวลา พิธีกรจึงถามเธอว่า คิดอย่างไรกับเพื่อนอีก ๒ คนที่ทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ เธอตอบว่า เขาชอบดูมวย นาน ๆ จะมีรายการแบบนี้ทางโทรทัศน์ ก็ให้เขาดูไป หนูทำคนเดียวก็ได้ พิธีกรถามต่อว่า เธอไม่โกรธหรือไม่คิดจะไปต่อว่าเพื่อนทั้งสองหรือ คำตอบของเธอน่าสนใจมาก เธอว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูไปด่าว่าเขา หนูก็ต้องเหนื่อยสองอย่าง”

    คนส่วนใหญ่หากตกอยู่ในสภาพเดียวกับเด็กหญิงคนนี้ ย่อมอดโมโหเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ดังนั้นจึงทำไปโกรธไป โดยหารู้ไม่ว่า ยิ่งโกรธหรือยิ่งบ่นก็ยิ่งเป็นทุกข์ ไม่ใช่แค่เหนื่อยกายอย่างเดียว หากยังเหนื่อยใจด้วย และหากคุมความโกรธไม่ได้ เข้าไปต่อว่าหรือดุด่าเขา ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น ทุกข์ทั้งขณะที่กำลังต่อว่า และทุกข์เมื่อพบว่าเขายังคงดื้อรั้นไม่ยอมมาช่วย แถมตอบโต้กลับมาด้วยถ้อยคำรุนแรง
    แต่เด็กหญิงคนนี้เห็นโทษของความโกรธ เธอรู้ดีว่าเมื่อโกรธหรือดุด่าว่ากล่าวใคร คนแรกที่จะต้องเป็นทุกข์คือตัวเธอเอง ไม่ใช่ใครอื่น เธอจึงก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ปริปากบ่น เพราะเหนื่อยอย่างเดียวย่อมดีกว่าเหนื่อยสองอย่าง

    สุขหรือทุกข์ขณะทำงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือเนื้องานเท่านั้น แม้ทำงานอย่างเดียวกันก็ยังรู้สึกสุข-ทุกข์ต่างกัน นั้นเป็นเพราะทัศนคติหรือวิธีคิด คนที่คิดเป็นหรือฉลาดคิดย่อมทำงานอย่างมีความสุขได้ หรือถึงจะทุกข์ก็ทุกข์น้อยกว่าคนอื่น คือแค่เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจด้วย ถึงจะหนักก็หนักแต่งาน แต่ไม่หนักใจด้วย

    มิใช่แต่เวลาทำงานเท่านั้น แม้เจอเหตุการณ์ที่ไม่น่ายินดี เช่น ของหาย เจ็บป่วย ตกงาน ถูกคนตำหนิ หากรู้จักคิดหรือฉลาดคิด จิตก็ไม่จ่อมจมอยู่ในความทุกข์ แถมยังสามารถมองเห็นข้อดีหรือใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์เหล่านี้ได้ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาหรือพาตัวให้หลุดจากปัญหาเหล่านี้ได้
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    รู้จักคิดหรือฉลาดคิด เป็นเรื่องของปัญญา หากมีปัญญาก็สามารถเปลื้องใจออกจากความทุกข์ และเข้าถึงความสุขได้ไม่ยาก ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ปรวนแปร ไม่แน่นอน เราไม่สามารถควบคุมหรือแม้แต่คาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราได้ แต่หากเรามีปัญญา ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็ยังมีความสุขอยู่ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า “สำหรับผู้มีปัญญา แม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ”

    ปัญญาคือหลักประกันแห่งความสุขที่แท้จริง ในทางตรงข้ามหากขาดปัญญาเสียแล้ว แม้ร่ำรวย มีอำนาจ สูงด้วยยศศักดิ์ ก็หาความสุขได้ยาก อย่างมากก็สุขกาย แต่ใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่ายังมีไม่พอ ทุกข์เพราะอยากได้มากกว่านี้ ทุกข์เพราะเห็นคนอื่นมีมากกว่าตน หรือทุกข์เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมาแย่งชิงของของตนไป เมืองไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยคนที่ทุกข์เพราะเหตุเหล่านี้มาก

    ทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมาย ก็ยังเป็นทุกข์ จะกล่าวไปไยถึงคนที่ล้มเหลวในการตักตวงสิ่งต่าง ๆมาครอบครอง แต่จะมีมากหรือน้อยก็ตาม ที่เป็นทุกข์ก็เพราะขาดปัญญานี้เอง อย่าว่าแต่ปัญญาระดับสูงถึงขั้นเห็นแจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนปล่อยวางได้อย่างสิ้นเชิงเลย แม้แต่ปัญญาระดับพื้นฐาน ก็ถูกละเลยไปมาก จึงเกิดปัญหามากมายทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงสังคม

    กล่าวโดยรวมแล้ว ความทุกข์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเวลานี้ มาจากทัศนคติ ๔ ประการ ซึ่งสวนทางกับวิถีแห่งปัญญาได้แก่

    ๑. คิดถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น
    ยิ่งคิดถึงตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น เพราะจะมองเห็นปัญหาของตนเป็นเรื่องใหญ่อยู่เสมอ ความเห็นแก่ตัวที่เพิ่มพูน จะทำให้กลายเป็นคนทุกข์ง่ายและสุขยาก

    ๒. ยึดติดความสุขทางวัตถุ
    ทัศนคติดังกล่าวทำให้หมกมุ่นกับการเสพและแสวงหาวัตถุ ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ เพราะคิดว่ายิ่งมีมาก ก็ยิ่งเป็นสุขมาก ชีวิตจึงไม่รู้จักกับความสงบเย็น

    ๓. หวังลาภลอยคอยโชคและมุ่งทางลัด
    ทัศนคติเช่นนี้ทำให้ขาดความเพียร แต่ผลักให้เข้าหาการพนัน การพึ่งพาไสยศาสตร์ ส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชั่น และการลักขโมย ซึ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตตกต่ำลง

    ๔. คิดอย่างไม่ถูกวิธี
    ทำให้ตัดสินใจไปตามความชอบความชัง หรือตกอยู่ภายใต้อารมณ์และอคติ ถือเอา “ความถูกใจ”มากกว่า “ความถูกต้อง” ทำให้ไม่อาจทำการงานให้สำเร็จหรือแก้ปัญหาของตนได้

    สังคมจะเจริญก้าวหน้า และผู้คนจะมีความสุข หากมีทัศนคติที่ตรงข้ามกับ ๔ ประการข้างต้น กล่าวคือมีปัญญาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ทัศนคติ ๔ ประการดังกล่าวได้แก่

    ๑. คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง
    เมื่อเราคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ตัวตนจะเล็กลง ความทุกข์ของเราจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย

    ๒. เข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ
    มีความสุขมากมายที่ประเสริฐและประณีตกว่าความสุขทางวัตถุ สามารถสัมผัสได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น สุขจากการทำความดีและมีสัมพันธภาพที่อบอุ่นราบรื่น คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ย่อมเป็นคนสุขง่าย ทุกข์ยาก

    ๓. เชื่อมั่นในความเพียรของตน
    ความสุขและความสำเร็จนั้นล้วนอยู่ในวิสัยที่เราจะทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยความเพียรของเราเอง ทัศนคติดังกล่าวทำให้เรารู้จักพึ่งตน ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือโชควาสนาและห่างไกลจากการพนันและการฉ้อโกง

    ๔. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
    คิดดี คิดเป็น และเห็นชอบ ทำให้เราสามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากไม่เบียดเบียนใครแล้ว ยังสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ จึงมีชีวิตได้ด้วยความมั่นใจในตนเอง

    ทัศนคติทั้ง ๔ ประการข้างต้นเป็นพื้นฐานของสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสังคมไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เครือข่ายพุทธิกาจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ “สุขแท้ด้วยปัญญา” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดทัศนคติดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมเหล่านี้ต้องประกอบด้วยกระบวนการ ๔ ขั้นตอนคือ

    ๑. การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
    ๒. การร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
    ๓. การร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น
    ๔. การสรุปบทเรียนจากประสบการณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตและงาน

    เราพบว่า กระบวนการทั้ง ๔ ขั้นตอนสามารถบ่มเพาะทัศนคติและส่งเสริมให้เกิด
    ปัญญาได้ดีกว่าการฟังคำบรรยายหรือการประชุมสัมมนา เพราะเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติโดยตรง ซึ่งให้ผลที่ยั่งยืนกว่าการฟังเรื่องราวของคนอื่น ความรู้ที่เกิดจากการบรรยายหรือการเทศนานั้น อย่างมากก็เป็นได้แค่ “ความรู้ชั้นสอง”สำหรับผู้ฟัง แม้ความรู้ดังกล่าวจะจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “ความรู้ชั้นหนึ่ง” ที่เกิดจากการปฏิบัติและใคร่ครวญด้วยตนเอง

    โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว มี ๕๔ โครงการเข้าร่วมจากทั่วประเทศ ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย อาทิ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และศาสนา ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่ ภิกษุสามเณร นักเรียน นักศึกษา เด็กออทิสติค ผู้พิการ จนถึง ผู้ติดเชื้อ

    หลังจากทำกิจกรรมเสร็จ แกนนำและผู้เข้าร่วมของทุกกิจกรรมได้ส่งตัวแทนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุปบทเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและลุ่มลึกขึ้น หลายคนได้เล่าถึงบทเรียนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองจากกิจกรรมเหล่านี้

    เด็กหญิงวัย ๑๓ ปีเล่าว่า เธอสมัครเข้าค่ายละครด้วยความหวังที่สดสวย แต่ทันทีที่มาเห็นค่ายเธอก็รู้สึกผิดหวังอย่างแรง เพราะค่ายตั้งอยู่กลางทุ่งนา เธอต้องนอนในเต๊นท์ อาหารการกินก็ไม่ถูกปาก ที่ร้ายกว่านั้นก็คือไม่มีโทรทัศน์และสัญญาณโทรศัพท์ เธอต้องใช้ชีวิตที่ไม่คุ้นเคยและไม่สะดวกสบายเลย แต่หลายวันผ่านไปเธอก็เพลินกับกิจกรรม เพราะมีโอกาสได้คิดและทำละครด้วยตนเอง อีกทั้งยังได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เมื่อค่ายใกล้จะจบเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเธอถึงมีความสุขในค่าย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสะดวกสบายเลย แล้วเธอก็พบว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่วัตถุหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก มิตรภาพกับการได้ทำสิ่งที่ตนเองรักก็เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขเช่นกัน

    นักศึกษาอีกคนเล่าว่า เธอกับเพื่อน ๆ ไปเข้าค่ายบำเพ็ญประโยชน์ที่จังหวัดลำปาง ทีแรกเธอรู้สึกไม่พอใจที่อาจารย์พานักศึกษานั่งรถไฟชั้นสาม ซึ่งมีผู้โดยสารแออัด ที่แย่กว่านั้นก็คือพอเธอกลับจากห้องสุขา ก็พบว่าที่นั่งของเธอมีชาวบ้านมานั่งแทน เธอขุ่นเคืองใจมาก แต่หลังจากที่ยืนไปได้พักใหญ่ เธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เธอเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อจะไปช่วยชาวบ้านมิใช่หรือ แล้วทำไมเธอถึงโมโหที่มีชาวบ้านมานั่งที่ของเธอ แค่นี้เธอก็เสียสละไม่ได้หรือ ถึงตรงนี้เธอก็หายโมโหชาวบ้านทันที ขณะเดียวกันก็เห็นตัวเองชัดว่ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ทั้ง ๆ ที่กำลังจะไปช่วยชาวบ้านแท้ ๆ

    ผู้ติดเชื้อHIV คนหนึ่งถูกชวนเข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ แต่แทนที่จะถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป ผู้จัดให้เขาอ่านหนังสือธรรมะบทหนึ่ง จากนั้นก็ให้เขาเลือกประโยคใดประโยคหนึ่งออกมา แล้วลองคิดดูว่าจะถ่ายทอดข้อความนั้นด้วยภาพนิ่งและภาพวีดีโออย่างไร เขายอมรับว่าทีแรกนึกไม่ออก เพราะรู้สึกว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องยากและห่างไกลตนเหลือเกิน แต่หลังจากใคร่ครวญเพ่งพินิจ และมองรอบตัว ก็เริ่มมองเห็นว่าต้นไม้ ก้อนหิน สระน้ำ เป็นสื่อถ่ายทอดธรรมะประโยคนั้นได้อย่างไร เขาถ่ายภาพแล้วภาพเล่า จากนั้นผู้จัดก็พิมพ์และนำภาพเหล่านั้นไปติดบนผนัง รวมทั้งนำคลิปวีดีโอของเขาและเพื่อน ๆ ออกฉายให้ดูกันด้วย หลายคนชมว่าเขาถ่ายภาพสวยและสื่อธรรมะได้ดี เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมีความสามารถอย่างนั้น ความภาคภูมิใจในตนเองทำให้เขาไม่รู้สึกต่ำต้อยในความเป็นผู้ติดเชื้ออีกต่อไป

    ผู้ร่วมโครงการคนหนึ่งพูดว่า สิ่งที่เขาประทับใจโครงการนี้ก็คือ เป็นโครงการที่กระตุ้นให้เกิด “เอ๊ะ” มากกว่า “อ๋อ” กล่าวคือทำให้เกิดการฉุกคิดและตั้งคำถามกับความคิดหรือความเข้าใจเดิม ๆ ไม่เหมือนกับการไปเข้าสัมมนาหรือฟังคำบรรยาย ที่ได้แต่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้มากขึ้น แต่ไม่กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิด

    เนื่องจากความสำเร็จในปีแรก โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาจึงดำเนินการต่อเป็นปีที่สอง โดยจะให้ทุนสนับสนุนแก่กิจกรรมที่ผ่านการคัดเลือกไม่เกิน ๒ แสนบาทต่อทุน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมที่ทำจะจัดเพียง ๑ ครั้ง ( ไม่น้อยกว่า ๕ วัน ๔ คืน ) หรือ ต่อเนื่องมากกว่า ๑ ครั้งก็ได้ แต่จำนวนผู้เข้าร่วมต้องไม่น้อยกว่า ๓๕ คน โดยเน้นผู้เข้าร่วมที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว เปิดรับโครงการระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม -๑๔ สิงหาคม
    :- https://visalo.org/article/matichon255206.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    สังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    พฤติกรรมทางศีลธรรมของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีภายในใจเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมรวมถึงสถานการณ์และผู้คนรอบตัวด้วย หากมีใครสักคนเป็นลมอยู่บนถนนที่มีคนพลุกพล่าน ถ้าทุกคนพากันเดินผ่านผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่หยุดช่วยเหลือเขาเลย คนที่เดินตามมาก็มีแนวโน้มที่จะเดินผ่านเขาไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้าบังเอิญมีใครสักคนหยุดเดินแล้วเข้าไปช่วยเขา ก็จะมีใครต่อใครอีกหลายคนเข้าไปทำอย่างเดียวกัน เช่น ซื้อยาดมหรือหาน้ำให้กิน
    นักจิตวิทยาคู่หนึ่ง แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยทำการทดลองด้วยการมอบหมายให้นักศึกษาคนหนึ่งแกล้งทำเป็นโรคลมบ้าหมูอยู่คนเดียวในห้อง โดยมีนักศึกษาอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องติดกัน (แต่ไม่รู้ว่ามีการทดลอง) จากการทดลองทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง พบว่านักศึกษาข้างห้องเมื่อได้ยินเสียงร้องจะเข้าไปช่วย “ผู้ป่วย” ถึงร้อยละ ๘๕ ของการทดลอง แต่ถ้าหากในห้องข้าง ๆ นั้นมีคนอยู่ ๕ คน ร้อยละ ๓๑ เท่านั้นที่จะมีคนจากห้องนั้นไปช่วย
    เขายังได้ทดลองด้วยการสุมควันในห้อง ปรากฏว่าคนที่อยู่นอกห้องหากเห็นควันพวยพุ่งจากใต้ประตูจะรีบวิ่งไปบอกเจ้าหน้าที่ถึงร้อยละ ๗๕ ถ้าเขาอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่กันเป็นกลุ่ม จะมีการรายงานเจ้าหน้าที่เพียงร้อยละ ๓๘ ของการทดลองเท่านั้น

    การทดลองนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะทำตัวพลเมืองดีหากว่าอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่กันหลายคน ความใส่ใจที่จะเป็นพลเมืองดีก็ลดลง

     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    53,560
    กระทู้เรื่องเด่น:
    170
    ค่าพลัง:
    +33,091
    (ต่อ)
    กล่าวกันว่าคนเรามักจะทำดีต่อหน้าผู้คน ข้อนี้มีความจริงอยู่ แต่ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ทำตัวเฉยเมย ดูดายต่อปัญหา ไม่อนาทรต่อผู้เดือดร้อน คนอื่นก็มักจะทำตามด้วย นี้คือเหตุผลว่าเหตุใดผู้หญิงจึงถูกลวนลามในรถเมล์หรือถูกฉุดกระชากลากถูเข้าพงหญ้าโดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือเลย ในสถานการณ์เช่นนี้ต่างคนต่างโยนความรับผิดชอบให้คนอื่น ( “แกทำสิ ๆ” หลายคนคงนึกเช่นนี้ในใจ) หาไม่ก็นึกในใจว่า “ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำ” สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรเลยสักคน อันธพาลจึงทำร้ายผู้หญิงได้สมใจและลอยนวลไปได้
    นอกจากผู้คนแวดล้อมแล้ว สถานการณ์หรือสถานภาพของแต่ละคนก็มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของเขาด้วย เมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้วมีการทดลองที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยทำคุกจำลองขึ้นและมีอาสาสมัครจำนวน ๒๔ คนมารับบทเป็นผู้คุมและนักโทษ อาสาสมัครเหล่านี้ล้วนคัดมาจากผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาก ผู้ที่รับบทเป็นผู้คุมซึ่งมีอยู่ครึ่งหนึ่งนั้นได้รับเครื่องแบบ ใส่แว่นตาดำและมีอุปกรณ์ทุกอย่างเหมือนจริง รวมทั้งมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้คุมทั่วไป

    การทดลองมีกำหนด ๑๔ วัน แต่หลังจากดำเนินไปได้เพียง ๖ วันก็ต้องยุติ เพราะนักโทษทนสภาพที่ถูกบีบคั้นในคุกไม่ไหว เนื่องจากผู้คุมใช้อำนาจอย่างเต็มที่ เพียงแค่คืนแรกนักโทษก็ถูกปลุกให้ขึ้นมาวิดพื้นตั้งแต่ตี ๒ และทำอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง วันต่อมาเมื่อนักโทษแสดงอาการต่อต้านขัดขืน ก็ถูกลงโทษหนักขึ้น มีการเปลื้องผ้าและจับขังคุกเดี่ยว หลังจากนั้นนักโทษหลายคนมีอาการหงอย หงอ และซึม ขณะที่ผู้คุมแสดงอาการข่มขู่ก้าวร้าวมากขึ้น ผ่านไปไม่กี่วันนักโทษ ๔ คนถูกพาออกจากการทดลองเพราะมีอาการคลุ้มคลั่งและซึมเศร้าอย่างหนัก สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด จึงต้องยุติการทดลองก่อนกำหนด ๘ วัน

    อาสาสมัครที่รับบทผู้คุมบางคนเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า พฤติกรรมที่เขาทำในคุกนั้นตรงข้ามกับที่เขาทำในยามปกติ บางคนยอมรับว่า ไม่คิดมาก่อนว่าตนจะมีพฤติกรรมรุนแรงอย่างนั้นเพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนรักสันติ ส่วนฟิลิป ซิมบาร์โดซึ่งเป็นผู้ทำการทดลองอันลือชื่อดังกล่าว ยอมรับเช่นกันว่า ไม่คาดคิดว่าพฤติกรรมของผู้คนในคุกจำลองจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเข้มข้นขนาดนั้น

    การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์บางอย่างนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนได้ มันสามารถดึงเอาด้านลบหรือความรุนแรงก้าวร้าวในตัวของผู้คนออกมาอย่างคาดไม่ถึง “คนดี”ในยามปกติอาจกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว บ้าอำนาจ หรือนิยมความรุนแรงได้หากมีอำนาจมากมายในมือ

    ดังที่คุณหมอประเวศ วะสีได้เปรียบเปรยไว้ ไก่ ๒ ตัวเมื่อถูกสุ่มครอบ จากเดิมที่เคยหากินอย่างสงบ ก็จะเริ่มจิกตีกัน คนเมื่อถูกครอบด้วยโครงสร้างที่คับแคบ ก็จะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แสดงความรุนแรงต่อกัน สังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะรัสเซียสมัยสตาลิน และจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดึงเอาด้านลบของมนุษย์ออกมาอย่างน่าเกลียด ผู้คนไม่เพียงระแวงต่อกันเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะปรักปรำใส่ร้ายกัน เพื่อความอยู่รอดของตัว แม้กระทั่งสามีภรรยาก็ไม่ไว้ใจกัน เพราะกลัวว่าต่างฝ่ายจะเป็นสายให้ตำรวจ

    ที่มักพูดกันว่า “ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีด้วย” เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว คนมิใช่เป็นผู้กำหนดสังคมฝ่ายเดียวเท่านั้น สังคมก็เป็นตัวกำหนดผู้คนด้วย นั่นก็คือ “ถ้าสังคมเลว ทุกคนก็(มีสิทธิ)เป็นคนเลว”

    อิทธิพลของสังคมมีผลทางลบต่อจิตใจของผู้คนเพียงใด พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร โดยทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ เมื่อ(ผู้ปกครอง)ไม่จัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ย่อมทำให้ความยากจนระบาดทั่ว จากนั้นก็จะมีการลักขโมยแพร่หลาย มีการใช้อาวุธระบาดทั่ว มีการฆ่าผู้คน โกหก ส่อเสียด ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ จนเกิดมิจฉาทิฏฐิ ความฝักใฝ่ในอธรรม ความละโมบ และมิจฉาธรรม เป็นต้น

    เห็นได้ว่าการปกครองที่ไม่ก่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพย์อย่างทั่วถึง สามารถก่อผลกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ผู้คนกินอยู่ฝืดเคืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชน เริ่มจากการผิดศีลผิดธรรม ตามมาด้วยการกัดกร่อนจิตสำนึกของผู้คน ทำให้กิเลสและความหลงผิดเพิ่มพูนขึ้น
    อิทธิพลของสังคมที่มีต่อจิตสำนึกของผู้คน เป็นเรื่องที่ชาวพุทธและคนไทยทั่วไปไม่สู้ตระหนัก หรือยังให้ความสำคัญน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการนิยมเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คนด้วยวิธีการเทศนาสั่งสอน (รวมทั้งพานั่งสมาธิ) ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่พอ เพราะได้ผลในระดับบุคคล หรือกับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลน้อยมากต่อสังคมโดยรวม


     

แชร์หน้านี้

Loading...